11-12-2018

Amazon เตรียมรุกอินเดีย สำหรับค้าปลีกแบบออฟไลน์

บทความโดย

ช่วงกลางปีที่ผ่านมาบริษัท Walmart ได้เข้าซื้อหุ้นกว่า 77% ของบริษัท Flipkart ผู้ให้บริการ Online Store รายใหญ่ของอินเดีย ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเพื่อจะสกัดกั้นการรุกเข้ามาในอินเดียของบริษัท Amazon ยักษ์ใหญ่ทางด้านอีคอมเมิร์ซ ที่กำลังขยายช่องทางธุรกิจออกไปทั่วโลกอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ลองดูกันว่า มันเกิดอะไรขึ้น และทำไมถึงต้องพยายามป้องกันการรุกของ Amazon ขนาดนั้น

ภาพจาก Shutterstock

Amazon เตรียมรุกค้าปลีกอินเดีย

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในเวลานี้ Amazon กำลังมองหาโอกาสที่จะขยายกิจการเข้ามาในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังมีการเติบโตด้านการค้าปลีกแบบออฟไลน์

Jeff Bezos CEO ของ Amazon ได้กล่าวถึงการเข้ารุกอินเดียว่า เวลานี้พวกเขาใกล้ที่จะบรรลุข้อตกลงสำหรับการเข้าซื้อหุ้นกว่า 9.5% ในกลุ่ม Future Retail ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการเครือข่ายค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย โดยคาดว่าข้อตกลงจะบรรลุภายในสองสัปดาห์ข้างหน้า

หลายฝ่ายคาดว่า นี่อาจเป็นก้าวแรกของ Amazon ก่อนที่จะเข้าซื้อกิจการทั้งหมดโดยสมบูรณ์

สื่อท้องถิ่นของอินเดียยังรายงานว่า ทั้งสองฝ่ายต่างก็เห็นพ้องกับข้อตกลงและเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งน่าจะทำให้ Amazon เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของ Future Retail ได้ภายใน 8-10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นไปตามข้อกฎหมายในการควบรวมกิจการของอินเดีย

รู้จักกับ Future Retail

คนไทยอาจจะไม่คุ้นเคยเท่าไร แต่ Future Retail ถือว่าเป็นแบรนด์ใหญ่ในอินเดีย ซึ่งให้บริการที่หลากหลายเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีก ทั้งในซุปเปอร์มาร์เก็ต และบริการส่งถึงบ้าน ปัจจุบันสาขาในเครือมากกว่า 1,000 แห่ง ใน 250 เมืองทั่วประเทศอินเดีย มีลูกค้ามากกว่า 500 ล้านคนที่เข้ามาเดินภายในซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อสินค้าต่างๆ มีองค์กรเอกชนและผู้ประกอบการมากกว่า 30,000 แห่งที่จัดส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์มาจากทั่วประเทศ

Amazon vs Walmart

จากที่กล่าวมา ถ้าข้อตกลงดังกล่าวของ Amazon ลุล่วงได้จริง นี่จะถือว่าครั้งที่สามแล้ว ที่ยักษ์ใหญ่จากโลกตะวันตกเข้ามาลงทุนในกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ของอินเดีย ซึ่งสองครั้งก่อนหน้านี้มาจากคู่แข่งสำคัญของพวกเขาอย่าง Walmart ที่ได้ประกาศเข้ามาซื้อกิจการของ Flipkart เป็นมูลค่ากว่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และครั้งแรกนั้นก็เกิดจาก Amazon เอง เมื่อพวกเขาเข้ามาซื้อหุ้นราว 5% สำหรับ Shoppers Stop เป็นมูลค่ากว่า 25.3 ล้านเหรียญ เมื่อเดือนกันยายนปี 2017 ที่ผ่านมา

การเคลื่อนไหวของ Amazon จึงนับเป็นการเปิดฉากปะทะกับ Walmart ในตลาดอีคอมเมิร์ซของอินเดียอย่างจริงจัง

ทางด้าน Walmart เองก็พยายามที่จะลงทุนใน Flipkart มากขึ้น ด้วยการสร้างระบบออนไลน์และออฟไลน์ผสมผสานกันเพื่อขยายช่องทางอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจรอย่างเร่งด่วน ซึ่งการลงทุนกว่า 3.8 พันล้านเหรียญใน Flipkart เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถือว่าสูงกว่าฝั่ง Amazon เสียอีก

แต่ด้าน Amazon เองก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นมูลค่ากว่า 7.5 พันล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าสูงกว่าราว 20% มากกว่า Flipkart ที่มีอยู่ 6.2 พันล้านเหรียญ

แนวโน้มต่อไปสำหรับE-Commerce ในอินเดีย

การแข่งขันระว่าง Amazon และ Walmart ในตลาดอินเดีย ผ่านบริษัทในเครือที่กำลังเกิดขึ้น น่าจับตามองเป็นอย่างมากโดย Future Retail เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับความนิยมมากสำหรับชนชั้นกลางในอินเดีย ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่า การเข้ามาจับมือครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยให้ Amazon มีความเข้าใจในพฤติกรรมในการจับจ่ายของคนอินเดียได้ดีขึ้นด้วย และดีลครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ค้าปลีกของอินเดียและฝั่ง Amazon

“แม้ว่า Amazon จะเป็นผู้ให้บริการค้าปลีกออนไลน์ แต่ก็ต้องสามารถผสมผสานกับค้าปลีกออฟไลน์ด้วย” Satish Meena นักวิเคราะห์ของ Forrester Research ได้กล่าวไว้ “การเข้ามาครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับตลาดค้าปลีก โดยเฉพาะความจำเป็นที่ยังต้องใช้ร้านค้าปกติเพื่อรส่งสินค้าให้ไปถึงมือลูกค้า”

ปัจจุบันนี้ ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ในอินเดียมีการเติบโตที่รวดเร็วมากแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ 3% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดก็ตาม

“รูปแบบค้าปลีกในอินเดียยังคงต้องใช้ออฟไลน์เป็นหลัก ซึ่งนี่คือความท้าทายของการยกระดับธุรกิจออนไลน์ที่จะเพิ่มจำนวนผู้ค้าและผู้ซื้อให้มากขึ้น” Harish H.V. ผู้บริหารของ Grant Thornton ซึ่งเป็น Partner ในอินเดียได้กล่าวไว้ “เมื่อการจัดส่งสินค้ามีมากขึ้นเรื่อยๆสุดท้ายแล้วมันก็จะกลายเป็นกระแสไปเอง ซึ่งนี่คือความท้าทายที่ธุรกิจออนไลน์ในอินเดียต้องเผชิญ”

อุปสรรคอย่างหนึ่งในอินเดียก็คือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความชอบที่จะสัมผัสหรือเลือกสินค้าด้วยตนเองในระหว่างการเดินช็อปปิ้งมากกว่าการสั่งซื้อทางออนไลน์ อีกทั้งการออกไปช็อปปิ้งในห้าง ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการพักผ่อนและใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวด้วย

สำหรับสิ่งที่จะมาช่วยเสริมให้กับธุรกิจออนไลน์ก็คือ การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้มือถือในอินเดีย ซึ่งเป็นผลมาจากราคาเครื่องที่ถูกลง

ขณะเดียวกันผู้ค้าปลีกทุกรายใช้ทุกช่องทางเพื่อขายสินค้าของตนให้ได้ Mukesh Ambani อภิมหาเศรษฐี ผู้เป็นเจ้าของเครือ Relianxe Jio ได้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับร้านขายของชำแบบดั้งเดิมผ่านบรอดแบรนด์ ในขณะที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Paytm Mall ซึ่งมีส่วนของการให้บริการชำระเงินผ่านมือถือและออนไลน์ถือว่าเป็นธนาคารที่อยู่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งได้พัฒนาระบบผ่านแนวคิดการเลือกสินค้าซึ่งขายในร้านค้าปกติผ่าน Patym Mall โดยผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้า และรอให้จัดส่งมาที่บ้านภายในวันเดียวกัน เป็นตัวอย่างหนึ่งของการผสมผสานทั้งออฟไลน์และออนไลน์ที่กำลังเติบโตขึ้นในอินเดีย

Source: Nikkei