05-01-2019

เคพีเอ็มจี ชี้ผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นเพียงการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน กำลังมองประเด็นหลักของอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ครบ

บทความโดย
ภาพจาก Shutterstock

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังปรับตัวไม่ทันยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0 หรือ i4.0) ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อการอยู่รอดของธุรกิจ

จากงานวิจัยของเคพีเอ็มจีอินเตอร์แนชั่นแนล พบว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงองค์กรแบบปฏิรูป  ซึ่งหลายองค์กรยังไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยหากผู้ประกอบการยังคงดำเนินธุรกิจด้วยรูปแบบเดิม จะพบกับความเสี่ยงจากการถูกคุกคามทั้งจากคู่แข่งรายเดิม และผู้เล่นรายใหม่ ดังนั้น ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรจำเป็นต้องเร่งกำหนดกลยุทธ์ในระดับองค์กร และผ่องถ่ายสู่การปฏิบัติอย่างรวดเร็ว เพื่อให้พร้อมต่อการดำเนินงานในยุคอุตสาหกรรม 4.0

คุณดั๊ก เกทส์ ประธานฝ่ายอุตสาหกรรมการผลิตของเคพีเอ็มจี กล่าวถึงงานวิจัยนี้ว่า

“จากการวัดระดับในด้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ของเคพีเอ็มจี พบว่ามีเพียงไม่กี่องค์กรเท่านั้นที่ดำเนินการได้ถึงระดับสูงสุด ซึ่งต้องมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจได้แบบบูรณาการ มีความเชื่อมโยงกันในทุกมิติ  ซึ่งโดยส่วนใหญ่องค์กรจะดำเนินการได้ในระดับต้น คือการมุ่งใช้เทคโนโลยีเพื่อการลดต้นทุนเท่านั้น  โดยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นยุคแห่งการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจ  ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการรายใดที่ยังไม่พร้อมต่อการปรับตัวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่  มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความท้าทายที่ส่งผลต่อการอยู่รอดของธุรกิจในอนาคตอันใกล้”

จากรายงาน “A Reality Check for Today’s C-suite on Industry 4.0 – experimentation is ending แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารระดับสูงในหลายองค์กรยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กรเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยพบว่าองค์กรได้มุ่งเน้นการดำเนินโครงการแบบเดี่ยว (single-project) โดยใช้วิธีการปฏิรูปองค์กรจากระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน (bottom-up approaches) เช่น เริ่มจากการปรับปรุงเครื่องจักร/อุปกรณ์ก่อน แล้วจึงค่อยเริ่มใช้ประโยชน์จาก big data แบบบูรณาการ โดยองค์กรมีความคิดว่าการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพเพียงอย่างเดียวคือเครื่องยืนยันว่าองค์กรได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างสมบูรณ์

โดยในระยะสั้น  การดำเนินการด้วยวิธีนี้อาจทำให้องค์กรเห็นว่ามีต้นทุนที่ลดลง และมีกำไรที่เพิ่มขึ้น  แต่จากรายงานของเคพีเอ็มจี พบว่าในระยะยาว การดำเนินโครงการแบบเดี่ยว (single-project) จะมีต้นทุนที่สูงกว่า และได้รับผลตอบแทนที่น้อยกว่า เมื่อองค์กรต้องมีการปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นอย่างพลิกโฉม
คุณดั๊ก เกทส์ ประธานฝ่ายอุตสาหกรรมการผลิตของเคพีเอ็มจี กล่าวถึงงานวิจัยนี้ว่า

“เราพบว่าในหลายองค์กรพอใจเพียงการได้รับผลประโยชน์จากการจัดทำโครงการนำร่อง (Pilot Project) ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ และการตอบโจทย์กลยุทธ์ขององค์กรในภาพกว้าง  โดยหากเปรียบไปก็เหมือนกับคนที่หยุดกินยาปฏิชีวนะก่อนเวลา เพียงเพราะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้ว  ซึ่งจากแนวคิดนี้ จะนำมาซึ่งปัญหาที่ยากต่อการรับมือในอนาคต”

คุณธิดารัตน์ ฉิมหลวง ประธานฝ่ายดูแลลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมดังนี้
องค์กรหลายแห่งในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายในการปรับเปลี่ยนองค์กร และการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0  ซึ่งความท้าทายนี้ได้ถูกพบมากในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร และอาหารแปรรูป ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 1,200 ราย พบว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร และอาหารแปรรูป มีองค์กรขนาดเล็กไม่ถึงร้อยละ 3 และขนาดกลางไม่ถึงร้อยละ 5 ที่ได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0  โดยเห็นว่านโยบายประเทศไทย 4.0 คือนโยบายที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ โดยในขณะนี้สิ่งต่างๆ ที่ผู้ประกอบการต้องเร่งดำเนินการคือ การรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่องค์กรต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต กำหนดกลยุทธ์ในระดับองค์กรที่มีความเหมาะสม และสร้างองค์กรให้มีความยื่นหยุ่น คล่องตัว พร้อมต่อการปรับเปลี่ยน
เคพีเอ็มจี เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการกำหนดทิศทางขององค์กรในอนาคตที่ชัดเจน พร้อมต่อการแข่งขัน และรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กรนั้นจำเป็นต้องมาพร้อมกับแผนการดำเนินงานในรายละเอียด และวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง โดยจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ดี จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ประสบผลสำเร็จ
การปฏิรูปองค์กรเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการควรเริ่มต้นอย่างไร เคพีเอ็มจีมีข้อแนะนำ ดังนี้

  • กำหนดกลยุทธ์ขององค์กรโดยเริ่มจากระดับบน และผ่องถ่ายลงสู่ระดับล่าง (top-down strategy)
  • ปรับการบริหารงานขององค์กรแบบแยกฟังก์ชั่น เป็นการเชื่อมโยงฟังก์ชั่นต่างๆ โดยมุ่งสู่การสร้างคุณค่า
  • สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความยืดหยุ่น สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ มาปรับใช้ให้เกิดคุณค่าได้อย่างเต็มที่
  • ยกเลิกตัวชี้วัดความสำเร็จ (Key Performance Indicators : KPIs) แบบเดิมๆ พิจารณาวิธีการวัดความสำเร็จที่จะผลักดันให้องค์กรเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 0 ได้อย่างแท้จริง

คุณดั๊ก เกทส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า

หากผู้ประกอบการไม่สามารถก้าวเดินสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยความมั่นคงได้ภายในปี พ.ศ. 2563 องค์กรจะต้องเผชิญปัญหาอย่างหนักจากผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในตลาด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องปรับองค์กรให้สมบูรณ์แบบในทุกมิติ แต่อย่างน้อยต้องมีพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการภายใต้ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่แข็งแกร่ง นั่นคือ การมีกลยุทธ์องค์กรที่ชัดเจน มีแผนการปฏิรูปองค์กรที่ครอบคลุม สอดคล้องกันในทุกมิติ และมีวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง”

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานได้ที่:  A Reality Check for Today’s C-suite on Industry 4.0 – experimentation is ending