26-11-2018

รัฐบาลมาเลเซียเตรียมฟ้อง Goldman Sachs 4,500 ล้านดอลลาร์ คดีฉ้อโกง 1MDB

บทความโดย
  • อัยการสูงสุดมาเลเซียเตรียมยื่นฟ้องในคดีแพ่งกับ Goldman Sachs  โดยเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินมากถึง 4,500 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 148,500 ล้านบาท เนื่องจากความเกี่ยวข้องในการออกตราสารหนี้ระดมทุนของกองทุน 1MDB
  • การสอบสวนเอาผิดอาจโยงไปถึง นายทิม ไลส์เนอร์ อดีตหัวหน้าคณะผู้บริหาร Goldman Sachs ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรวมถึง นายลอยด์ แบลงก์ไฟน์ อดีตประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Goldman Sachs อีกด้วย

ภาพจาก Shutterstock

นายทอมมี่ โธมัส อัยการสูงสุดมาเลเซียเตรียมยื่นฟ้องในคดีแพ่งกับ Goldman Sachs วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ โดยในคดีนี้รัฐบาลมาเลเซียต้องการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 4,500 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 148,500 ล้านบาท อันเนื่องมาจากความเกี่ยวข้องของ Goldman Sachs ที่ช่วยจัดแจงการออกตราสารหนี้เพื่อระดมเงินทุนของกองทุน 1MDB ซึ่งถูกนำไปใช้อย่างไม่โปร่งใส แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดในรัฐบาลมาเลเซียกล่าวกับสำนักข่าว Asia Times

การเตรียมฟ้องของรัฐบาลมาเลเซียต่อศาลในสหรัฐฯครั้งนี้จะเป็นการดำเนินการทางกฎหมายชิ้นล่าสุดที่รัฐบาลมาเลเซียมีต่อ Goldman Sachs ซึ่งถูกทางการมาเลเซียกล่าวหาว่า มีส่วนพัวพันกับการทุจริตมโหฬารในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติสุดอื้อฉาวแห่งนี้ ปัจจุบัน 1MDB กำลังถูกสอบสวนในคดีทุจริตและการฟอกเงินหลายคดีอย่างน้อยใน 6 ประเทศรวมถึงในสหรัฐฯด้วย

นายโธมัสเตรียมดำเนินการเอาผิด Goldman Sachs ในฐานะนิติบุคคลโดยอ้างเหตุผลว่า ผู้บริหารระดับสูงสุดของ Goldman Sachs รับรู้ถึงการฉ้อโกงที่เกิดขึ้นใน 1MDB ด้วย รายชื่อผู้บริหารที่จะถูกกล่าวหาในการฟ้องร้องในครั้งนี้จะรวมถึงผู้บริหารระดับอาวุโสที่ได้ถูกส่งฟ้องในคดีอาญาโดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯก่อนหน้านี้ด้วย แหล่งข่าวระบุ

นอกจากนั้นแล้ว สำนวนฟ้องที่ทางการมาเลเซียเตรียมที่จะยื่นฟ้องยังระบุอีกว่า ผู้บริหารอาวุโสรายดังกล่าวของ Goldman Sachs รับทราบด้วยว่า เงินทุนที่ระดมผ่านการเสนอขายตราสารหนี้ของ 1MDB ในปี 2012 ที่ Goldman Sachs เป็นผู้ดำเนินการจัดจำหน่ายนั้น ถูกผ่องถ่ายไปยังบริษัท Aabar BVI ซึ่งตั้งขึ้นในแหล่งฟอกเงินชื่อดังอย่างหมู่เกาะบริติชเวอร์จิ้น โดยตั้งชื่อบริษัทนี้ให้ค้ลายกับ Aabar Investments ซึ่งมี International Petroleum Investment Company หรือ IPIC บริษัทลงทุนของรัฐบาลอาบูดาบีเป็นเจ้าของและ IPIC เองก็เป็นผู้ค้ำประกันตราสารหนี้ที่ออกโดย 1MDB อีกด้วย

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2018 IPIC และ Aabar Investments บริษัทลูกของ IPIC ได้ร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีแพ่งกับ Goldman Sachs กับทางศาลสูงนิวยอร์กเช่นกันสำหรับความเสียหายที่เกิดจากการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องกับ 1MDB เช่นกัน อย่างไรก็ตามทางการอาบูดาบีไม่ได้เปิดเผยตัวเลขค่าเสียหายที่ยื่นฟ้องกับ Goldman Sachs ในคดีดังกล่าว

ในแถลงการณ์ของ IPIC เกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีข้างต้นนั้นระบุว่า Goldman Sachs เป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดการทุจริตของอดีตผู้บริหารของ IPIC และ Aabar Investments และยังมีพฤติกรรมชี้นำIPIC และ Aabar ให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ 1MDB ด้วย ด้านโฆษกของ Goldman Sachs ออกมาแถลงว่า ทางแบงก์เองก็จะทำการต่อสู้ในทางคดีให้ถึงที่สุดเช่นกัน

ก่อนหน้านี้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในคดีอาญากับอดีตผู้บริหาร Goldman Sachs 2 รายได้แก่ นายทิม ไลสเนอร์และโรเจอร์ อึ้ง และนายโล แต๊ก โจ หรือฉายา “โจโล” นักการเงินมาเลเซียชื่อดังและผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับของทางการมาเลเซีย โดยทั้ง 3 รายถูกดำเนินคดีในข้อหายักยอกทรัพย์เป็นเงินกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์จากกองทุน 1MDB

ทั้งนี้รายละเอียดระบุว่า เงินจำนวนดังกล่าวถูกผ่องถ่ายผ่านธุรกรรมฟอกเงินหลายรายการในสหรัฐฯ ตั้งแต่การซื้ออสังหาริมทรัพย์หรูหรามูลค่าสูงไปจนถึงการซื้องานศิลปะและการลงทุนผลิตภาพยนต์ โดยโจโลเองได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดว่า เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับกรณีของ 1MDB

การฟ้องร้องรอบใหม่ของรัฐบาลมาเลเซียต่อ Goldman Sachs ในครั้งนี้ เมื่อสมทบกับการฟ้องร้องที่พึ่งดำเนินการไป จะส่งผลให้มูลค่าความเสียหายที่วาณิชธนกิจรายนี้ต้องเผชิญสูงขึ้นอย่างมหาศาล และนั่นอาจนำไปสู่การเทขายหุ้น Goldman Sachs รอบใหม่จากความตื่นตระหนกของนักลงทุน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2018 ที่ผ่านมา นายลิ้ม กวง เอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาเลเซียกล่าวว่า รัฐบาลมาเลเซียเตรียมดำเนินการขอคืนเงิน 600 ล้านดอลลาร์ที่จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ของ 1MDB มูลค่า 6,500 ล้านดอลลาร์ที่เสนอขายระหว่างปี 2012 และ 2013 ซึ่ง Goldman Sachs เป็นผู้บริหารการจัดจำหน่าย

โดยในช่วงนั้น นายลิ้มกล่าวว่า รัฐบาลมาเลเซียจะทำการเรียกคืนเงิน “เต็มจำนวน” จากทาง Goldman Sachs เขาเองยังหวังว่า การดำเนินคดีอาญาของทางกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯจะเป็นบรรทัดฐานทางคดีความที่จะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ทางการมาเลเซียสามารถฟ้องร้องเอาผิดและเรียกค่าเสียหายจาก Goldman Sachs ได้ ซึ่งรวมถึงความเสียหายที่เกิดจากการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ด้วย

ทั้งนี้หลังจากนายลิ้มประกาศท่าทีของรัฐบาลมาเลเซียในตอนนั้น ราคาหุ้นของ Goldman Sachs ในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้ร่วงลงไปกว่า 7.5% ซึ่งเป็นการตกหนักสุดของราคาหุ้น Goldman Sachs นับแต่ปี 2011

โดยวันต่อมา นายมหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกฯมาเลเซียได้ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า ตอนนี้เป็นที่ชัดเจนว่า เราถูกโกงโดยคนของ Goldman Sachs

ด้านนายอันวาร์ อิบราฮิม ว่าที่นายกฯคนถัดไปของมาเลเซียได้ประสานเสียงกับนายมหาธีร์ในเรื่องนี้ในวันเดียวกัน โดยเขาได้เรียกร้องให้มีการดำเนินการทางกฎหมายที่ “เข้มข้นกว่านี้” กับ Goldman Sachs โดยไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ ทั้งนี้การที่อัยการสูงสุดของมาเลเซียเตรียมที่จะยื่นฟ้องต่อ Goldman Sachs เป็นเงินกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์น่าจะช่วยตอบคำถามในเรื่องการดำเนินการทางกฎหมายที่นายอันวาร์ระบุก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า นักลงทุนจะตอบสนองต่อข่าวการฟ้องร้องรอบใหม่ของรัฐบาลมาเลเซียในทิศทางใด โดยก่อนหน้านี้สำนักข่าว Bloomberg ได้ประมาณการว่า ความเสี่ยงทางด้านคดีความที่ Goldman Sachs จะเผชิญไม่น่าเกิน 2,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้รวมถึงค่าเสียหายมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ที่เกี่ยวเนื่องกับคดี 1MDB

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางการมาเลเซียได้ส่งสัญญาณว่า พวกเขากำลังพิจารณาที่จะเรียกคืนเงินค่าธรรมเนียม 600 ล้านดอลลาร์ที่จ่ายให้ Goldman Sachs สมัยรัฐบาลนาจิบ ราซัก

นายนาจิบถูกดำเนินคดีในข้อหาฟอกเงินอันเนื่องมาจากผลขาดทุนของ 1MDB นับตั้งแต่พ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้านอดีตนายกฯมาเลเซียรายนี้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

มูลค่าความเสียหายที่พุ่งขึ้นจาก 600 เป็น 4,500 ล้านดอลลาร์ซึ่งทางรัฐบาลมาเลเซียเตรียมฟ้องร้องเอาผิดกับ Goldman Sachs นั้นสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นของรัฐบาลนายมหาเธร์ในการเรียกร้องความเป็นธรรมในคดีการฉ้อโกงของ 1MDB ในเขตอำนาจศาลในต่างประเทศ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังสะท้อนถึงยุทธวิธีทางการเมืองที่แข็งกร้าวขึ้นของนายมหาธีร์ในการทำตามสัญญาช่วงหาเสียงเรื่องการเรียกคืนเงินที่สูญเสียไปจากการยักยอกทรัพย์ออกจากกองทุน 1MDB การประกาศเรียกคืนความเป็นธรรมจากกรณี 1MDB กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้พรรค Pakatan Harapan ของนายมหาธีร์ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทะลายในช่วงดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปิดฉากการครองอำนาจมาอย่างยาวนานของพรรค Umno ในการเมืองมาเลเซีย

จนถึงขณะนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าทางการมาเลเซียจำเป็นต้องพึ่งพาความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯในการดำเนินคดีเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริตทั้งหมดใน 1MDB ทั้งทางแพ่งและทางอาญาเพื่อเรียกคืนเงินและทรัพย์สินที่ถูกยักย้ายถ่ายเทไปยังหลายๆประเทศทั่วโลก

แม้ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นกลยุทธ์หลักในการตามหาเงินและทรัพย์สินของ 1MDB ที่ถูกผ่องถ่ายไปทั่วโลก แต่ความล่าช้าของกระบวนการสอบสวนของทางการสหรัฐฯในปัจจุบันได้เป็นตัวกระตุ้นให้อัยการโธมัสเร่งดำเนินการทางกฎหมายด้วยการเอาผิดกับ Goldman Sachs เพิ่มอีกกระทง

อัยการโธมัสได้กล่าวเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า สำนักงานอัยการสูงสุดมาเลเซียเตรียมคัดค้านข้อตกลงยินยอมในคำชี้ขาด (Consent Awards) ซึ่งลงนามโดยอดีตนายกฯนาจิบและยื่นต่อศาลอนุญาโตตุลาการแห่งกรุงลอนดอนซึ่งระบุว่า รัฐบาลมาเลเซียยินดีที่จะจ่ายเงินจำนวน 5,780 ล้านดอลลาร์ให้กับ IPIC ตลอดระยะเวลา 5 ปี ในฐานะที่ IPIC เป็นผู้ค้ำประกันของตราสารหนี้ของ 1MDB ที่ Goldman Sachs ช่วยจัดจำหน่ายให้

เงินจำนวนดังกล่าวนั้นรวมถึงดอกเบี้ยจ่ายของตราสารหนี้ของ 1MDB ด้วย ซึ่งหากมีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจริง จะกลายเป็นภาระของผู้เสียภาษีชาวมาเลเซียทันที โดย ณ เดือนตุลาคม 2018 รัฐบาลมาเลเซียมีภาระผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าวกับ IPIC ที่ค้างอยู่เป็นเงินกว่า 1,200 ล้านดอลลาร์ โดยเงินจำนวนดังกล่าวทางรัฐบาลนายมหาธีร์เองก็ต้องมีการกันเงินไว้เพื่อชำระตามข้อผูกพันด้วยในช่วงที่ผ่านมา

อัยการโธมัสยังระบุเพิ่มเติมในวันที่ 30 ตุลาคมอีกว่า การยื่นคัดค้านข้อตกลงยินยอมดังกล่าวนั้นดำเนินการบนหลักที่ว่า ข้อตกลงนี้มีมูลเหตุที่มาเนื่องจากการฉ้อโกงหรือพฤติกรรมที่ขัดกับผลประโยชน์สาธารณะ การคัดค้านดังกล่าวยังอ้างด้วยว่า IPIC และ Aabar Investments รับรู้ถึงการตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรงของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯต่ออดีตนายกฯนาจิบ ฉะนั้นแล้วทางฝั่ง IPIC เองจึงไม่ควรทำการลงนามกับนายนาจิบแต่แรก

หลายฝ่ายเชื่อว่า การยื่นคัดค้านของรัฐบาลมาเลเซียต่อข้อตกลงยินยอมในคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฉบับดังกล่าว คือมูลเหตุสำคัญที่ผลักดันให้ทาง IPIC ยื่นฟ้องทางแพ่งกับ Goldman Sachs เมื่อวันพุธที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามรายงานเบื้องต้นไม่ได้ระบุว่า IPIC ฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยทางแพ่งกับ Goldman Sachs เป็นจำนวนเงินเท่าใด

ขณะที่นายคาเด็ม อับดุลลา อัลคูไบซี และนายโมฮัมเหม็ด อาห์เหม็ด อัลฮุสเซนี อดีตผู้บริหาร IPIC จะถูกระบุว่าเป็นตัวการสำคัญในการเอื้อให้มีการยักยอกเงินทุนที่ได้จากการขายตราสารหนี้ของ IMDB ผ่าน Aabar BVI ก็ตาม การคัดค้านข้อตกลงยินยอมในคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของทางการมาเลเซียก็นับว่าเป็นกลยุทธ์ทางกฎหมายที่มีความสุ่มเสี่ยงและเสียเวลาไม่ใช่น้อย

ขณะที่อัยการโธมัสเดินเกมทางกฎหมายในช่องทางนี้ บรรดาผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า รัฐบาลมาเลเซียมีข้อได้เปรียบในทางกฎหมายและมีโอกาสสูงที่จะชนะคดีแพ่งที่ฟ้องร้องกับ Goldman Sachs ในศาลสหรัฐฯ

นอกจากนั้นแล้ว ท่าทีของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯในตอนนี้ยังมุ่งให้ความสำคัญไปที่การสอบสวนข้อกล่าวหาในเรื่องการฉ้อโกงของ Goldman Sachs ที่กระทำโดยอดีตผู้บริหารฉ้อฉลของ IPIC 2 รายซึ่งยังคงถูกคุมขังในเรือนจำประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2018 นายแบรดลีย์ โฮป นักข่าวจากหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลและ 1 ในผู้เขียนหนังสือ Billion Dollar Whale ซึ่งได้เล่าถึงอภิมหาการทุจริตในกองทุน 1MDB ได้กล่าวในงานประชุมสัมมนาของนักกฎหมายและสื่อมวลชนในกรุงลอนดอนว่า จุดสำคัญของการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯอยู่ที่ว่า จะทำการดำเนินคดีกับ Goldman Sachs ในฐานะนิติบุคคลหรือไม่ หรือจะทำแค่ดำเนินคดีอาญากับกลุ่มผู้บริหารเป็นรายบุคคลเท่านั้น

“ขณะนี้พวกเขาได้ดำเนินคดีอาญากับกลุ่มผู้บริหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ทางการสหรัฐฯเองก็มีอำนาจในการดำเนินคดีกับทาง Goldman Sachs ได้เช่นกันหากพวกเขาเห็นว่า การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวนั้นสร้างความเสียหายมากจนถึงขนาดที่ทางบริษัทฯต้องมีส่วนรับผิดชอบในความผิดที่เกิดขึ้นด้วย” นายโฮปกล่าวในเวทีสัมมนา “ผลลัพธ์สุดท้ายในคดีนั้นเป็นได้ตั้งแต่การดำเนินคดีแพ่งพร้อมจ่ายค่าปรับโดยทางกระทรวงยุติธรรมไปจนถึงการเอาผิดทางอาญากับ Goldman Sachs เอง”

ด้านนายเดวิด โซโลมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Goldman Sachs เองพยายามตอกย้ำกับสาธารณชนว่า เหตุอื้อฉาวดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องของตัวบุคคลล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกับทางบริษัทแต่อย่างใด

“ผมรู้สึกเจ็บใจมากที่เห็นคนของเรากระทำเหตุอื้อฉาวดังกล่าวจนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีจากทางรัฐบาล” นายโซโลมอนกล่าวกับพนักงาน Goldman Sachs ผ่านทางเสียงตามสายเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา “พฤติกรรมของคนเหล่านั้นทั้งเลวทรามและขัดกับจริยธรรมการทำงานขององค์กรซึ่งตีกรอบการทำงานของพนักงานอย่างพวกคุณกว่า 40,000 ชีวิตในแต่ละวัน”

การสอบสวน Goldman Sachs ของทางกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯที่ผ่านมามีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมเนื่องจากได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ต้องหาคนสำคัญ 2 รายในคดีนี้คือ นายทิม ไลส์เนอร์ อดีตหัวหน้าคณะผู้บริหาร Goldman Sachs ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอดีตเพื่อนร่วมงานของเขา นายโรเจอร์ อึ้ง ซึ่งขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ระหว่างทำเรื่องส่งตัวไปดำเนินคดียังประเทศสหรัฐฯ

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวออกมาว่า เจ้าหน้าที่อัยการของทางการสหรัฐฯกำลังสอบสวนรายงานข่าวชิ้นใหม่ที่ระบุว่า นายลอยด์ แบลงก์ไฟน์ อดีตประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Goldman Sachs ได้เคยพบปะกับนาย “โจโล” หนึ่งในผู้ต้องหาหลบหนีคดี 1MDB คนสำคัญ โดยทั้งคู่เคยพบกันที่สำนักงานใหญ่ของ Goldman Sachs ในย่านแมนแฮตตันเมื่อเดือนธันวาคม 2012

รายงานข่าวดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่า Goldman Sachs มีส่วนพัวพันกับคดี 1MDB แค่ไหน โดยก่อนหน้านี้ทางบริษัทกล่าวว่า การฉ้อโกง 1MDB นั้นเกี่ยวพันแค่กลุ่มพนักงานฉ้อฉลเพียงไม่กี่รายที่อาศัยช่องโหว่ในระบบตรวจสอบของบริษัทกระทำการทุจริตขึ้น หรือว่าแท้จริงแล้วคดีทุจิรตและฉ้อโกงครั้งประวัติศาสตร์นี้มีส่วนพัวพันไปถึงระดับผู้บริหารสูงสุดของบริษัทด้วย

แน่นอนว่า รายงานข่าวดังกล่าวจะเป็นข้อมูลสำคัญที่รัฐบาลมาเลเซียจะใช้เป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมายในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับ Goldman Sachs เป็นเงินกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์อีกด้วย

Source: Asia Times