05-02-2020

ด่วน!กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่1% ต่ำสุดในประวัติการณ์ของไทย

บทความโดย
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.

วันนี้ (5 ก.พ.63) นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มการขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพและประมาณการเดิมอย่างมาก ประกอบกับการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้งทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำ เสถียรภาพทางการเงินมีความเปราะบางมากขึ้น ทางคณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่อง การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือน จึงเห็นควรลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ลงมาอยู่ที่ 1% เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย

โดยทางกนง. มองปัจจัยทั้งเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจและการจ้างงาน โดยกระทบกับธุรกิจท่องเที่ยว การส่งออก และรวมไปถึงห่วงโซ่การผลิต

นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังได้รับแรงกดดันจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นทั้งครัวเรือนในภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ระบบการเงินโดยรวมมีความเปราะบางมากขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวโดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ โดยมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาพลังงานต่ำกว่าคาดเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา แม้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดจะปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากภัยแล้ง

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าเงินบาทอ่อนค่าลงบ้างเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แต่ยังอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย และมีแนวโน้มผันผวน โดยทางกนง.จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก ซึ่งสนับสนุนให้ ธปท. ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตามทางกนง. มองไปข้างหน้าจะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม รวมทั้งจะติดตามปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน