20-08-2019

SCB EIC ชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ชะลอลงที่ 2.3%YOY จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังผ่านมติ ครม.

บทความโดย
  • เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2019 ขยายตัวชะลอลงที่ 2.3%YOY นับเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส จากการหดตัวของภาคส่งออกทั้งสินค้าและบริการเป็นสำคัญ ทางด้านการผลิต พบว่า GDP ภาคเกษตรหดตัวจากผลกระทบภัยแล้ง ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวตามการลดลงของการผลิตสินค้าส่งออก
  • อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2019 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 3% จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่แย่ลง แต่ต้องจับตาผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่มีแนวโน้มส่งผลบวกต่อ GDP เพิ่มเติม โดยต้องรอความชัดเจนของมาตรการหลังผ่านมติ ครม. ในวันพรุ่งนี้ (20 ส.ค. 2019)

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2019 ขยายตัวชะลอลงที่ 2.3%YOY นับเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส ขณะที่ การเติบโตเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล (%QoQ_sa) ขยายตัวที่ 0.6% ทั้งนี้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 อยู่ที่ 2.6%YOY ใกล้เคียงกับประมาณการของอีไอซีที่เคยคาดไว้ที่ 2.5%YOY

ในด้านการใช้จ่าย (Expenditure Approach) มีแรงฉุดหลักจากภาคส่งออกและท่องเที่ยว ขณะที่ การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

  • การส่งออกสินค้าหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงหดหัวที่ -5.8%YOY หดตัวต่อเนื่องจาก -5.9%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่กลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้ง ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่แท้จริงหดตัวที่ -3.4%YOY ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -2.6%YOY ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางสำหรับการผลิตสินค้าส่งออกที่ลดลง
  • การส่งออกภาคบริการหดตัวจากการลดลงของรายรับบริการขนส่งและจำนวนนักท่องเที่ยว โดยการส่งออกบริการมีการหดตัวที่ -7.0%YOY เป็นผลมาจากการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงรายรับจากบริการขนส่งที่ลดลงทั้งในส่วนของรายรับจากการขนส่งสินค้าและการโดยสาร
  • การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงที่ 4%YOY ตามสินค้ากลุ่มคงทนเป็นสำคัญ โดยการบริโภคสินค้ากลุ่มคงทนขยายตัวที่ 5.5%YOY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 8.2%YOY ตามยอดขายรถยนต์ที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าในกลุ่มสินค้ากึ่งคงทน และสินค้าไม่คงทนขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.0%YOY และ 4.7%YOY จากการขยายตัวที่ 2.5%YOY และ 2.8%YOY ในไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งมีเม็ดเงินประมาณ 1.32 หมื่นล้านบาท
  • การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงทั้งภาคก่อสร้างและเครื่องจักรเครื่องมือ โดยขยายตัวที่ 2%YOY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.4%YOY เป็นผลมาจากการชะลอลงของการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือในหมวดเครื่องใช้สำนักงาน หมวดเครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้ในอุตสาหกรรม และหมวดยานยนต์ ขณะที่ การก่อสร้างขยายตัวชะลอลงเช่นกัน จากการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และในเขตเทศบาลเป็นสำคัญ
  • การลงทุนภาครัฐพลิกกลับมาขยายตัวที่ 4% หลังไตรมาสก่อนหน้าหดตัวที่ -0.1%YOY เป็นผลมาจากการลงทุนด้านการก่อสร้างของภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่องในอัตราเร่งที่ 5.8%YOY จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.1%YOY อย่างไรก็ดี การลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือหดตัวต่อเนื่องที่ -8.5%YOY โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบินไทยไม่มีการนำเข้าเครื่องบินในไตรมาสที่ผ่านมา

ในด้านการผลิต (Production Approach) พบว่า หลายภาคเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอลงจากการขยายตัวในช่วงไตรมาสแรก

  • การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวที่ -0.2%YOY ตามการหดตัวของการส่งออกสินค้า โดยการผลิตสินค้าที่หดตัวส่วนใหญ่เป็นสินค้าเพื่อการส่งออก เช่น คอมพิวเตอร์ ยางและพลาสติก
  • การผลิตสาขาเกษตรหดตัวที่ -1.1% YOY เนื่องจากผลกระทบของภัยแล้ง โดยเฉพาะผลผลิตข้าวเปลือก และอ้อยหดตัวที่ -15%YOY และ -65.3%YOY ตามลำดับ
  • จำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวชะลอลงส่งผลต่อ GDP ภาคบริการโรงแรมและภัตตาคาร โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวเพียง 1.1%YOY เทียบกับไตรมาสแรกที่ขยายตัว 1.8%YOY จึงส่งผลให้ GDP สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวชะลอลงเช่นกันที่ 7%YOY เทียบกับไตรมาสแรกที่ขยายตัว 4.9%YOY
  • อสังหาริมทรัพย์ขยายตัวชะลอลงที่ 1%YOY เนื่องจากมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ชะลอลงหลังมีมาตรการ
  • สาขาการก่อสร้างขยายตัวเร่งขึ้นที่ 4%YOY จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.0%YOY จากการก่อสร้างภาครัฐเป็นสำคัญ ขณะที่ การก่อสร้างภาคเอกชนยังชะลอตัว

Implication

เศรษฐกิจไทยปี 2019 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 3% จากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่แย่ลง แต่ต้องจับตาผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปรับตัวแย่ลงในหลายมิติ เริ่มจากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนเพิ่มเติมในอัตรา 10% ซึ่งมีการแบ่งเป็นสองรอบ ได้แก่ 1) รอบวันที่ 1 ก.ย. จะขึ้นภาษีบนสินค้านำเข้าของจีนมูลค่าราว 1.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 2) รอบวันที่ 15 ธ.ค. บนสินค้าจีนมูลค่าราว 1.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (อ่านเพิ่มเติมที่: ผลกระทบสงครามการค้ายังไม่จบ แม้สหรัฐฯ ชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนบางส่วน) นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมถึงการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ก็เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคส่งออกของไทย โดยอีไอซีคาดว่า มูลค่าการส่งออกในปี 2019 มีแนวโน้มหดตัวเพิ่มเติมจากที่เคยคาดไว้ที่ -1.6% (คาดการณ์เมื่อเดือน ก.ค.) เป็น -2.0% ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยว อีไอซีคาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงทำให้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลงเหลือ 40.0 ล้านคนจากที่เคยคาดไว้ที่ 40.1 ล้านคน และยังรวมถึงรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มหดตัวจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาท โดยจากสถานการณ์ที่แย่ลงของอุปสงค์ต่างประเทศดังกล่าว จึงทำให้อีไอซีประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 3.0%

อย่างไรก็ดี ต้องจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มส่งผลบวกต่อ GDP เพิ่มเติม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและภาวะสงครามการค้า แต่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยในเบื้องต้นจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลได้เสนอแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 3.1 แสนล้านบาทโดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร

  • สินเชื่อฉุกเฉิน 50,000 บาท/คน (ฟรีดอกเบี้ยปีแรก)
  • สินเชื่อฟื้นฟูความเสียหายจากภัยแล้ง 500,000 บาท/คน
  • สนับสนุนต้นทุนการผลิตข้าว 500-800 บาท/ไร่ ไม่เกิน 20 ไร่

2) มาตรการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

  • เพิ่มเงินผู้ถือบัตร 500 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.)
  • เพิ่มเงินผู้สูงอายุ 500 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.)
  • เพิ่มเงินดูแลเด็กแรกเกิด 300 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.)

3) มาตรการด้านการท่องเที่ยวในประเทศ

  • แจกเงินเพื่อท่องเที่ยว 1,000 บาท/คน ให้กับ 10 ล้านคนแรก
  • ใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวไม่เกิน 30,000 บาท ได้รับเงินคืน 15% ไม่เกิน 4,500 บาท
  • มาตรการฟรีวีซ่าระยะเวลา 1 ปี สำหรับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย และต่ออายุฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่า (VOA)

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวยังมีรายละเอียดไม่ชัดเจนในหลายมิติ อาทิ เงื่อนไขการให้เกษตรกรกู้ ระยะเวลาของโครงการ ที่มาของงบประมาณ และความครบถ้วนของมาตรการอื่น ๆ ที่ยังอาจไม่มีการกล่าวถึง ดังนั้นจะต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการทั้งหมดอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะมีออกมาหลังผ่านมติ ครม. ในวันพรุ่งนี้ (20 ส.ค.) ซึ่งอีไอซีจะมีบทวิเคราะห์อย่างละเอียดเกี่ยวกับประเด็นนี้ต่อไป