08-08-2019

Sea(Thailand) เจ้าของ Garena-Shopee-Airpay เปิดแผนขยายลูกค้าด้วยกลยุทธ์ 3Es

บทความโดย

Sea (ประเทศไทย) ผู้นำด้านดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์  เจ้าของแพลตฟอร์มใหญ่ 3 ด้านได้แก่ เกมส์(การีนา) อีคอมเมิร์ซ (ช้อปปี้) และ บริการด้านการเงินแบบดิจิทัล (แอร์เพย์) ด้วยกลยุทธ์ ‘3Es’ มุ่งเน้น ‘Enlarge-Enable-Empower’ ให้กับลูกค้า

7 ปีจากบริษัทเกมส์ถึงตลาดอีคอมเมิร์ซและอีเพย์เมนต์

Sea (ประเทศไทย) เริ่มต้นธุรกิจในปี 2012 ด้วยธุรกิจเกมส์ที่เราคุ้นเคยในชื่อแรกของบริษัทนั่นคือ Garena จากผู้บริหารเพียงแค่ 4 คนก่อร่างสร้างบริษัทเกมส์ขึ้นในสิงคโปร์ที่ต้องการสร้างตลาดเกมส์สำหรับคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยมีเกมส์ชั้นนำที่ติดตลาดกันไปแล้วอาทิ ROV, Free Fire, Speed Drifters, และ FIFA Online 4 เป็นต้น

เมื่อธุรกิจเกมส์มั่นคงแล้วได้ขยายธุรกิจเข้าสู่การบริการการเงินออนไลน์นั่นคือ Airpay ในปี 2014 ต่อมาได้เห็นการเติบโตและเทรนด์สำคัญของอีคอมเมิร์ซทำให้ขยายเข้าสู่ตลาดนี้โดยการเปิดตัว Shopee ในปี 2015 จากการดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างมากดำเนินธุรกิจใน 7 ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน

ด้วยการดำเนินธุรกิจของSea (Group) ที่เติบโตอย่างมากได้เป็นยูนิคอร์น (Unicorn) รายแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ภายใต้สัญลักษณ์ SE เมื่อปลายปี 2017

Sea (Group) มีผลประกอบการที่เติบโตแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสที่ 1 ของปี 2019 Sea (Group) มีอัตราการเติบโตถึง 194% เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2018 สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่น

Business Model ของ Sea(Thailand) ในปัจจุบัน ประกอบด้วย

  • Garena ธุรกิจเกมส์ มียอดผู้ลงทะเบียน (Registered User) จำนวน 35 ล้านบัญชีบนเกมประเภทพีซี (PC) และ 40 ล้านบัญชีบนเกมมือถือ (Mobile) ด้วยคนไทยที่ชอบเล่นเกมส์จนตอนนี้ไทยถือเป็นฮับของE-Sport ของภูมิภาคมีทัวร์นาเมนต์ใหญ่ทำให้เกิด Sport Tourism ขึ้นในไทย การถ่ายทอดสดในงาน Garena World championship ในปี 2012 อยู่ที่ 7.5แสนวิว เติบโตมาเป็น 276 ล้านวิวในปี 2018
  • Airpay ดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 7.5 ล้าน โดยมีจุดให้บริการมากกว่า 2 แสนจุด กระเป๋าเงินออนไลน์ที่สะดวกและปลอดภัย สำหรับชำระบิล เติมเงินมือถือ ท๊อปอัพเกม ไปจนถึงบริการด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างครบครัน และยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตในธุรกิจของการีนาและช้อปปี้ด้วยการบริหารจัดการระบบชำระเงินและค่าสินค้า
  • Shopee ในไทยดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 30 ล้านดาวน์โหลด และกลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซของประเทศไทย

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า “นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผลิตภัณฑ์และบริการบนอินเทอร์เนตแพลตฟอร์มจาก Sea ไม่ว่าจะเป็น การีนา ช้อปปี้ และแอร์เพย์ ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวไทยเป็นอย่างดีมาโดยตลอด  Sea มุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการบนอินเทอร์เนตแพลตฟอร์ม ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านบริการที่ครอบคลุมทั้งดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์ อีคอมเมิร์ซ และ บริการด้านการเงินแบบดิจิทัล เพื่อมอบประสบการณ์ของไลฟ์สไตล์ที่เป็นเลิศอย่างครบวงจรให้กับผู้บริโภค”

กลยุทธ์ 3Es มุ่ง Enlarge-Enable-Empower

‘Enlarge’ ขยายสัดส่วนของฐานผู้ใช้งาน จากเดิมที่เกมส์จะอยู่ใน Pc เป็นหลักแต่มีข้อจำกัดในเรื่องการเล่นที่ไม่สะดวก ก็ขยายไปอยุ่บนมือถือมากขึ้น ทำให้สามารถเ้ล่นเกมส์ที่ไหนก็ได้ พร้อมกับการทำเกมส์ที่ตอบโจทย์นักเล่นเกมส์ให้มากขึ้น อย่าง  Arena of Valor (RoV) เกมบนมือถือยอดนิยม มียอดลงทะเบียนในประเทศไทยกว่า 31 ล้าน เทียบเท่าเป็น 1 ใน 3 ของประชากรไทย

เปลี่ยนแปลงจากGame Publisher สู่การเป็น Game Developer ซึ่งเกม Free Fire คือเกมมือถือเกมแรกที่การีนาพัฒนาเองอย่างเต็มรูปแบบ ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและสามารถขยายฐานผู้เล่นเกมไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในแถบละตินอเมริกา โดยเฉพาะประเทศบราซิลที่นิยมเกม Free Fire เป็นอย่างมากจนตอนนี้เกม Free Fire มียอดดาวน์โหลดสูงถึง 450 ล้านครั้ง ทำให้ขึ้นแท่นสู่การเป็นเกมออนไลน์ Free to Play ที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และยังมียอดผู้เล่นพร้อมกันสูงสุดถึง 50 ล้าน ผู้เล่นต่อวันอีกด้วย

‘Enable’ ทำให้เกิดการใช้งานจากผู้บริโภคในวงกว้าง ด้วยความเข้าใจตลาดมากขึ้นและเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ ผู้เล่นมากขึ้นซึ่งการใช้งานในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน โดยมีการปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้อาทิ

เกม Free Fire ที่ทำให้เกมกลายเป็น ‘Inclusive entertainment’ โดยเกม ‘Free Fire’ ใช้เมมโมรี่น้อยลง โดยไม่ลดคุณภาพของเกมเพื่อสามารถดาวน์โหลดและเล่นได้ ตอบโจทย์กับความต้องการของเกมเมอร์ใน emerging marke

Shopee มีแอพสำหรับแต่ละประเทศที่แตกต่างเพื่อตอบสนองความต้องการพฤติกรรมการซื้อของที่แตกต่างกัน มีการนำเอากิจกรรม “Gamification” ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การรับรู้และใช้งานในวงกว้าง เช่น Shopee LIVE Shopee Quiz  และ Shopee Shake Shake ชวนผู้ใช้มาเล่นเกมส่งผลให้ระยะเวลาการใช้งานที่ผู้บริโภคใช้บนช้อปปี้ยาวนานขึ้น

โจทย์ที่สำคัญของ Enable คือการเพิ่มความรู้ของคนขายให้เขามีทักษะในการใช้แพลตฟอร์มเพื่อช่วยในการขายสินค้าละเพิ่มตัวเลือกให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น

‘Empower’ สร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและสังคม เพื่อทำให้ระบบนิเวศของแต่ละอุตสาหกรรมแข็งแรงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คอมมูนิตี้ของผู้ประกอบการรายย่อยที่จะได้รับความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มผู้ค้าขายจาก Shopee University คอมมูนิตี้ภาคการศึกษาผ่านการสนับสนุนและพัฒนาความสามารถของคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้ Sea ยังได้เปิดตัวยุทธศาสตร์ 10 in 10 Initiativeโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพ ‘Digital Talentในตลาดแรงงานทุกระดับ โดย Sea พร้อมส่งมอบ ‘Digital Talentกว่า 10 ล้านคน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน ภายในระยะเวลา 10 ปี

นอกจากนี้ Shopee ได้เริ่มการบริการ Shopee Logistics ขึ้นในระดับทดลองให้บริการแก่ลูกค้าของ Shopee บ้างแล้วแต่ยังอยู่ในวงจำกัดเนื่องจากข้อจำกัดของผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่ไม่ตอบโจทย์ผู้ซื้อผู้ขายของทางShopee เอง จึงริเริ่มให้บริการขนส่งของตนเองขึ้น แต่ยังต้องทดสอบอีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถขยายการบริการออกไปให้ครอบคลุมมากกว่านี้

คงต้องจับตาดูว่าสมรภูมิที่ดุเดือดในตลาดอีคอมเมิร์ซและบริการการเงินออนไลน์ และตลาดเกมส์ จะช่วยดันบริษัทมูลค่า 500,000 ล้านบาทนี้ให้ไปทะลุเป็นบริษัท 1 ล้านล้านบาทได้หรือไม่ และจะสามารถพลิกให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกลับมามีกำไรได้หรือไม่