09-05-2019

แบงก์ชาติสิงคโปร์พิจารณาใบอนุญาตธนาคารดิจิทัล

บทความโดย
ภาพจาก pixabay

ธนาคารกลางสิงคโปร์กล่าวว่า ทางธนาคารกำลังศึกษาว่า จะอนุญาตให้บริษัทเทคโนโลยีทางการเงินดำเนินธุรกิจในลักษณะธนาคารดิจิทัลล้วนๆในประเทศสิงคโปร์ หลังจากหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบในประเทศอื่นๆในเอเชียเริ่มทะยอยออกใบอนุญาตในลักษณะดังกล่าวแล้ว

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในบรรดาศูนย์กลางการเงินสำคัญในภูมิภาคเช่นเดียวกับฮ่องกง โซล และโตเกียว ที่ต่างมีความพยายามที่จะผลักดันตัวเองให้เป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินหรือฟินเทค มาตรการที่ผ่านมาที่ทางการสิงคโปร์ออกมาเพื่อส่งเสริมฟินเทคมีทั้งการจัดสรรเงินทุนจากภาครัฐ กฎระเบียบที่เปิดกว้าง และการส่งเสริมให้สตาร์ทอัพต่างๆมีโอกาสทดลองผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีการควบคุม

“บริษัทด้านเทคโนโลยีและธุรกิจที่มิใช่ธนาคารต่างกำลังก้าวเดินครั้งใหญ่ในหนทางดิจิทัล และพวกเขาก็นำเอาคุณค่ามหาศาลมาสู่มือของลูกค้า บรรดาธุรกิจที่มิใช่ธนาคารได้จัดตั้งธนาคารที่เป็นรูปแบบดิจิทัลล้วนๆทั้งในรูปแบบของการร่วมมือกันกับกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคารด้วยกันหรือการเป็นหุ้นส่วนกับธนาคารปกติด้วย” ธนาคารกลางสิงคโปร์กล่าวตอบในคำถามที่ส่งไปสัมภาษณ์โดยสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันอังตารที่ 7 พฤษภาคม 2019

“ทางเราเองกำลังศึกษาว่า จะอนุญาตให้มีการดำเนินธุรกิจในรูปแบบธนาคารดิจิทัลล้วนๆโดยบริษัทที่มิใช่ธนาคารหรือไม่”

สิงคโปร์ หนึ่งในศูนย์กลางการเงินสำคัญระดับโลก เป็นที่ตั้งของ 3 ธนาคารจดทะเบียนสำคัญของประเทศได้แก่ ดีบีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด, ธนาคารโอเวอร์ซีไชนีสแบงกิ้งคอร์ป จำกัดหรือธนาคารโอซีบีซี และธนาคารยูโอบี

ปัจจุบันมีธนาคารจากทั่วโลกกว่า 200 แห่งที่เปิดดำเนินงานในสิงคโปร์และจำนวนธนาคารที่เลือกสิงคโปร์เป็นสำนักงานใหญ่ของภูมิภาคเอเชียก็เพิ่มขึ้นด้วย

นายซามูเอล เซียน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธนาคารโอซีบีซีได้เตือนถึงการใช้วิธีการเดียวครอบจักรวาลในการสนับสนุนฟินเทค

“ด้วยวิวัฒนาการที่เติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มฟินเทคในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การที่ฟินเทคถือกำเนิดขึ้นในฐานะสตาร์ทอัพเพื่อดิสรัปธุรกิจสถาบันการเงิน ไปจนถึงฟินเทคในฐานะที่เป็นระบบนิเวศน์ที่จัดตั้งโดยบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ มันเลี่ยงไม่ได้ที่คุณจะเห็นธนาคารดิจิทัลที่มีบริษัทแม่ที่ไม่ใช่ธนาคารต้องการลงมาดำเนินธุรกิจนี้ด้วย” นายเซียนกล่าวในแถลงการณ์

“อย่างไรก็ตาม โมเดลการดำเนินงานของธนาคารดิจิทัลไม่สามารถเป็นไปในลักษณะเป็นรูปแบบเดียวที่ครอบคลุมทุกอย่างได้โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมของการดำเนินงาน” นายเซียนกล่าว โดนเน้นย้ำว่า สิงคโปร์เป็นตลาดขนาดเล็ก และชาวสิงคโปร์แทบทุกคนก็สามารถเข้าถึงบริการธนาคารได้อยู่แล้ว

ด้านธนาคารกลางสิงคโปร์กล่าวว่า ทางธนาคารกลางสิงคโปร์เองได้หารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดคุณค้าที่ทุกฝ่ายสามารถนำมาสู่อุตสาหกรรมธนาคารในประเทศได้และเพื่อ “ทำความเข้าใจถึงวิธีการจัดการและควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้”

หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจธนาคารในฮ่องกงเองก็ได้มีการออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลให้กับ 4 บริษัทในปีนี้รวมถึงบริษัทฟินเทคอย่าง วีแล็บ ดิจิทัล จำกัด ขณะที่ฝั่งเกาหลีใต้เอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกใบอนุญาตธนาคารออนไลน์ให้กับผู้ขอจำนวน 2 ราย โดยหนึ่งในนั้นคือธนาคารคาเกาเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา โดยคาเกานั้นดำเนินงานภายใต้บริษัทที่ได้ชื่อว่าอยู่เบื้องหลังแอพการสนทนาที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้

ที่มา: รอยเตอร์