28-05-2018

สงครามการค้าของทรัมพ์กำลังส่งผลรุนแรงต่อผู้ส่งออกรถยนต์ในอาเซียน

บทความโดย
  • นโยบายการค้าของทรัมพ์ กำลังส่งผลสำคัญต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฐานผลิตรถยนต์แหล่งใหญ่ของโลกที่ส่งออกไปสหรัฐฯเป็นตลาดอันดับต้นๆ
  • อัตราภาษีศุลกากรนำเข้ารถยนต์เดิมอยุ่ที่ 2.5% จะขึ้นมาเป็น 25% หรือสิบเท่าจากเดิม
  • ญี่ปุ่นส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐประมาณปีละ 1.7 ล้านคัน ขณะที่เกาหลีใต้ส่งออกไปสหรัฐปีละ 845,000 คัน ถ้ายอดส่งออกหดตัวรุนแรงย่อมส่งผลต่อไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้อย่างแน่นอน

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กำลังทบทวนยุทธศาสตร์ธุรกิจต่อกรณีที่รัฐบาลสหรัฐโดยประธานาธิบดีทรัมพ์กำลังพิจารณาปรับปรุงภาษีนำเข้ารถยนต์ใหม่จากเดิมอยู่ที่ 2.5% มาเป็น 25% เพื่อหวังได้รับเสียงโหวตจากกลุ่มฐานเสียงที่เป็นคนใช้แรงงานหรือพวก Blue Collar ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนปี 2018

รถยนต์มีส่วนแบ่งถึง 15% ของสินค้านำเข้าสหรัฐทั้งหมดนับว่าเป็นสินค้ากลุ่มที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทอื่นทีนำเข้าสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านั้นสินค้านำเข้าที่เป็นเป้าหมายการขึ้นภาษีคือเหล็ก ซึ่งขึ้นไปแล้วมากกว่า 1% ขณะที่การขึ้นภาษีศุลกากรรถยนต์จะส่งผลต่อหัวใจของระบบการค้าโลกเลยทีเดียว

ถ้าประธานาธิบดีทรัมพ์ยังเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ จะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกเป็นอย่างมาก เฉพาะประเทศญี่ปุ่นประเทศเดียว ส่งรถยนต์เข้าสู่สหรัฐกว่า 1.7 ล้านคันต่อปี ขณะที่เยอรมนีมีการส่งรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังสหรัฐปีหนึ่งมีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้แล้วยังอาจกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐเช่นกัน โดยยอดขายรถยนต์กว่า 11% ของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค และการเพิ่มขึ้นของราคารถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเกิดการชะลอตัว  เพราะอุตสาหกรรมดีลเลอร์รถยนต์หรือตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐเกี่ยวข้องกับคนราว 2 ล้านคนซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ถึง 2 เท่า

ตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา เป็นตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น ตัวเลขส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐมากกว่า 1.74 ล้านคันหรือ 18% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่น  ในปี2017 เฉพาะบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ส่งออกไปถึง 7 แสนคันต่อปี ซึ่งนั่นรวมถึงรถแบรนด์ Lexus ซึ่งเป็นแบรนด์รถระดับพรีเมียมของโตโยต้าด้วย

26% คือตัวเลขยอดขายในสหรัฐฯของโตโยต้า ตัวเลข 28% ของนิสสัน มอเตอร์ และ 32% ของฮอนด้า สิง่ที่จะเกิดขึ้นคือผู้ผลิตรถยนต์จะต้องเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นและทำให้ยอดขายมากขึ้นเพื่อชดเชยการขึ้นภาษีสิบเท่าจากนโยบายการค้าในครั้งนี้

ถ้าดูผลจากนโยบายการค้าของทรัพ์ส่งผลโดยตรงในระยะสั้นง่ายที่สุด คือราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่น จะพบว่า หุ้นโตโยต้าร่วงลง 3% หุ้นนิสสันร่วงไป 2% ขณะที่หุ้นของฮอนด้าร่วงลงไป 3% ขณะที่มาสด้าได้รับผลกระทบมากทำให้ไตรมาสที่ผ่านมาร่วงลงไป 5%

ขณะที่ทางด้านเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้ผลิตสำคัญเช่นกันในตลาดรถยนต์ ซึ่งส่งออกไปทั่วโลกปีที่แล้ว 2.53 ล้านคัน โดยส่งออกไปสหรัฐสูงถึง 845,000 คัน หรือมากกว่า 30% ของยอดส่งออกรถยนต์ทั้งหมดนั่นทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้เองต้องจัดประชุมฉุกเฉินเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เพื่อหารือเรื่องการเจรจาและแผนแก้ไขในเรื่องดังกล่าว

ทางด้านยุโรปเองก็ไม่เว้นผู้ผลิตรถหรูอย่างค่าย Mercedes Benz และ BMW ซึ่งรถจากทั้งสองค่ายนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐฯก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ผลกระทบต่อไทย

ขณะที่ประเทศไทยซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่ไทยมีการส่งออกไปสหรัฐเช่นกันและอยู่ในห่วงโซ่ของการส่งชิ้นส่วนยานยนต์ไปประกอบยังประเทศปลายทางอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือประเทศในอาเซียน ซึ่งจำนวนไม่น้อยปลายทางคือตลาดในสหรัฐฯ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะได้รับผลกระทบทั้งสองทาง ทั้งจากภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นสิบเท่า และ จากประเทศที่รับชิ้นส่วนเราไปประกอบ แน่นอนว่าจะกระทบต่อเรื่องต้นทุนและปริมาณการผลิตที่อาจลดลง

สหรัฐเป็นตลาดส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอันดับ 1 และเป็นอันดับที่ 11 ของการส่งออกรถยนต์ประกอบเสร็จ โดยมูลค่าการส่งออกในอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสหรัฐอยู่ที่ปีละ 2,750 ล้านเหรียญต่อปี หรือประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท ผลกระทบในครั้งนี้จะส่งผลต่อยอดขายของบริษัทผลิตชิ้นส่วน บริษัทประกอบ และซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมนี้ขนาดไหนซึ่งจำนวนไม่น้อยคือ SMEs และ รวมถึงประเด็นการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้จะกระทบมากน้อยขนาดไหนต้องติดตามอย่างมาก

Source: Nikkei