05-09-2019

ซีเอ็มเอ็มยู เปิดเผยข้อมูลงานวิจัยการตลาด ถอดรหัสลับสร้างแบรนด์ไทยให้ปัง ตอบโจทย์เจ้าของแบรนด์ไทยหลุดพ้นกับดักทางธุรกิจ

บทความโดย

ซีเอ็มเอ็มยู เปิดข้อมูลงานวิจัย “ถอดรหัสสูตรลับฉบับแบรนด์ไทย” เข้าใจมุมมองผู้บริโภค ชี้ช่องทางทำแบรนด์ไทยให้ปังพร้อมแข่งขันในตลาดโลก ด้วย รหัสลับหลักที่เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของแบรด์ไทย

ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร ผู้ช่วยคณบดี ด้านการสื่อสารองค์กร และหัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร ผู้ช่วยคณบดี ด้านการสื่อสารองค์กร และหัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทยหลาย ๆ แบรนด์เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก สร้างยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาชุมชน พบว่า สินค้าในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) ในปี 2561 มียอดจำหน่ายสูงถึง 1.9 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามเมื่อดูข้อมูลเชิงลึกจะพบว่า สินค้าโอทอปที่มีกว่า 20,000 กว่าราย กลับมีสินค้ามากกว่า 40% ของโครงการโอทอปทั้งหมดที่ยังไม่สามารถก้าวสู่ความเป็นมาตรฐานสากลหรือแข่งขันในตลาดโลกได้

หากเปรียบเทียบยอดจำหน่ายสินค้าโอทอป กับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในปี2561 ก็จะคิดเป็นเพียง 1.2% เท่านั้น ซึ่งถือว่ายังน้อยมาก หากผลักดันสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทยให้ถูกช่องทาง ก็จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับประเทศไทยได้อีกหลายเท่าตัว โดยจุดอ่อนสำคัญของการสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทย พบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากด้านการตลาด โดยเฉพาะสินค้าไม่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ สินค้ามีลักษณะใกล้เคียงกัน ไม่มีความแตกต่าง บรรณจุภัณฑ์ หีบห่อไม่สวยงามและทันสมัย

นอกจากนี้ยังมีการตั้งราคาไม่สอดคล้องกับต้นทุนของสินค้า ทำให้ประสบปัญหาทางการเงินจนเกิดภาวะขาดทุน รวมถึงการขาดช่องทางการจำหน่าย ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงสินค้า และไม่มีการทำการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้จักแบรนด์และสินค้า

นายรวิพัชร ศรีสถิต หัวหน้าคณะวิจัยฯ นักศึกษาปริญญาโทสาขาการตลาด ซีเอ็มเอ็มยู กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว ทางคณะวิจัยจึงได้ทำการศึกษา 3 ด้าน จากแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 1,032 ราย เพื่อศึกษาการรับรู้สินค้าและกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าไทยและสินค้าท้องถิ่น การสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้บริโภคในแต่ละเจนเนอเรชั่น ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 30 ราย รวมทั้งการศึกษาจากกรณีศึกษาจากเจ้าของผู้ประกอบการ เจ้าของแบรนด์ในประเทศไทย อีก 20 แบรนด์

ผลการศึกษาในด้านของผู้บริโภคจากการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่า เส้นทางการเดินทางของผู้บริโภค (Customer Journey) ของแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทยมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ แบรนด์ท้องถิ่น มีปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ คือ ความชอบในเอกลักษณ์ของสินค้า การบอกต่อของคนใกล้ชิด ทำให้รู้สึกอยากทดลองซื้อ สินค้าต้องมีคุณภาพ หากเป็นสินค้าประเภทอาหารต้องอร่อยและสะอาด รวมทั้งเรื่องของบรรจุภัณฑ์และการสร้างแบรนด์ ต้องมีความโดดเด่นและแตกต่างเหนือแบรนด์คู่แข่ง

ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของแบรนด์ไทย คือ  คุณภาพ ถือเป็นหัวใจหลัก ต้องดีจริงตามโฆษณา ราคาต้องมีความเหมาะสมไม่แพงกว่าแบรนด์ต่างประเทศ นอกจากนี้จะแบรนด์ต้องมีการสื่อสารไปยังผู้บริโภค มีการรีวิวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งสินค้าจะเอกลักษณ์ในเรื่องบรรจุภัณฑ์และการทำแบรนด์จะต้องแตกต่างไม่เหมือนใคร มีความทันสมัยและน่าเชื่อถือ

จากการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า การที่ผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าไทยนั้น ไม่ได้ต้องการเลือกซื้อสินค้าไทยเพราะสะท้อนถึงความเป็นไทย แต่มุ่งเน้นที่คุณภาพของสินค้าเป็นหลัก  ซึ่งสอดคล้องกับผลของการสัมภาษณ์เชิงลึก ถึงปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุดในการตัดสินใจซื้อแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทย คือ คุณภาพของสินค้าเป็นหลักเช่นกัน

นายรวิพัชร กล่าวเสริมว่า   จากการเก็บข้อมูลการศึกษาวิจัยจากกรณีตัวอย่างของแบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จกว่า 20 แบรนด์ สามารถถอดรหัสสูตรลับฉบับแบรนด์ไทย Decoding the success : Thai Local Brand เพื่อนับมาแก้ไขปัญหาของแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทยเผชิญอยู่ รวมทั้งยังเป็นการช่วยยกระดับแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ ประกอบไปด้วย 5 รหัสลับคือ

1.มองหาภูมิปัญญาในการต่อยอด (Roots of wisdom) มองหาโอกาสและภูมิปัญญาต่อยอด พัฒนาให้เป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่น สะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต รวมถึงความเป็นอยู่ของสังคมไทย เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้สินค้ามีความแตกต่างจากสินค้าทั่วไปที่มีขายตามท้องตลาด

2.คุณภาพไทยมาตรฐานโลก (Product Quality) ในปัจจุบันมีการแข่งขันทางธุรกิจสูง เรื่องของคุณภาพจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ทำให้ผู้ผลิตต้องใส่ใจในกระบวนการและวางมาตราฐานของสินค้าของตนให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน

3.โดดเด่นด้วยความแตกต่าง (Product Differentiation) การสร้างสรรค์สินค้าให้มีความแตกต่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการใส่นวัตกรรม การใส่แนวคิดและความคิดสร้างสรรคต่างๆเข้าไปในสินค้า ตลอดจนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความแตกต่างจากท้องตลอด

4.สร้างเรื่องให้จดจำ (Brand Storytelling) การที่แบรนด์สร้างเรื่องเล่าถือเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคผ่านสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการตกแต่งร้าน บรรจุภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวเบื้องหลังเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น การจดจำ และการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค

5.พลังแห่งการบอกต่อ (Advocacy) ถือเป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์ต้องการและต้องทำให้ได้ คือ เมื่อแบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้ผ่านการสื่อสารครบทั้ง 4 เรื่องที่ผ่านมา แบรนด์ที่มีเรื่องราวโดนใจผู้บริโภค ผู้บริโภคจะทำหน้าที่บอกต่อเรื่องราวดี ๆ ของแบรนด์ให้ผู้บริโภครายอื่น ๆ ต่อกันไปในวงกว้าง ซึ่งบางทีสามารถช่วยให้จากแบรนด์ที่ไม่เป็นที่รู้จัก สามารถเป็นที่รู้จักจนขยายเป็นวงการในระดับประเทศได้

“ทั้ง 5 รหัสลับนี้ อันได้แก่ 1.มองหาภูมิปัญญาในการต่อยอด (Roots of wisdom) 2.คุณภาพไทยมาตรฐานโลก (Product Quality) 3.โดดเด่นด้วยความแตกต่าง (Product Differentiation) 4.สร้างเรื่องให้จดจำ (Brand Storytelling) และ 5.พลังแห่งการบอกต่อ (Advocacy)   นับเป็นรหัสลับสำคัญที่จะนำแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ไทยหลุดพ้นกับดักด้านการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ให้แก่ผู้ประกอบการไทย รวมถึงผู้ที่ต้องการสร้างแบรนด์เป็นของตนเองก็ยังสามารถใช้รหัสลับดังกล่าวมาพัฒนาแบรนด์ของตนให้ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน” นายรวิพัชร  กล่าวทิ้งท้าย