27-12-2018

ย้อนรอยเศรษฐกิจ 2018 เมื่อบริษัทใหญ่พร้อมใจปลดพนักงาน ปีหน้าใครจะเป็นรายต่อไป??

บทความโดย

ตลอดปี 2018 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้น ต้องยอมรับว่าปีนี้ไม่ใช่ปีที่ธุรกิจต่างๆจะสดใส จากภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลกที่เจอปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ โดยปี 2018 นี้ก็เป็นอีกปี ที่บริษัทชั้นนำต่างๆมีการปรับลดพนักงานเป็นจำนวนมาก

ต้องยอมรับว่าปี 2018 เป็นปีที่ภาคธุรกิจสื่อโทรทัศน์ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ในอดีตถือเป็นว่าธุรกิจที่กำไรดีและมั่นคง เริ่มต้นตั้งแต่ต้นปีด้วย บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด เจ้าของช่อง Voice TV ที่ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 127 คน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 โดยให้เหตุผลด้านสถานการณ์ทางธุรกิจ การปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความเหมาะสม และเน้นไปที่การทำสื่อออนไลน์ให้มากขึ้น

Voice TV

ถัดมาเป็น Spring News สถานีโทรทัศน์ด้านข่าวสารชื่อดัง ของบริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก็ได้ประกาศปรับลดพนักงานล็อตแรกจำนวน 80 คน จาก 400 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานฝ่ายข่าว ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา

Spring News

แม้แต่ Money Channel ช่องทีวีของตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็ต้องยุติการออกอากาศในวันที่ 1 มกราคม 2562 โดยทางบริษัทฯ ระบุว่า “พฤติกรรมในการบริโภคสื่อ ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปมากและรวดเร็ว” จึงมีความจำเป็นต้องยุติการออกอากาศหลังจากจำเดินการมากว่า 14 ปี เช่นเดียวกับ “New TV” สถานีโทรทัศน์ระบบดิจิทัลของบริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด ที่มีกระแสข่าวการปรับลดพนักงานประมาณ 30% และได้ทำการเลิกจ้างพนักงานฝ่ายข่าวไป 37 คนเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์

ล่าสุดปลายปีสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ยักษ์ใหญ่ของวงการทีวีของไทย ต้องออกมาชี้แจงถึงกระแสข่าวที่มีการปลดพนักงานจำนวน 80 คน ว่าเป็นโครงการเกษียณอายุของพนักงานที่มีอายุเกิน 60 ปี ยังไม่ได้มีการปลดพนักงานอย่างที่ลือกัน อย่างไรก็ตามทางช่อง 3 ระบุว่า บริษัทยังอยู่ในการพิจารณาอัตรากำลังที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของทีวีดิจิตอล ซึ่งยังไม่ได้มีเป้าหมายหรือตัวเลขที่ชัดเจนแต่อย่างใด

TV3

นอกจากบริษัทด้านทีวี และสื่อที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจนต้องมีการปรับโครงสร้างและลดพนักงานแล้ว ภาคการเงินอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีการตั้งเป้าลดสาขาจากปัจจุบัน 1,153 สาขา ให้เหลือ 400 สาขา รวมทั้งลดพนักงานจาก 27,000 คน ให้เหลือเพียง 15,000 คน หรือลดไปกว่า 45% เพื่อรองรับเศรษฐกิจในยุคดิจิตอล

SCB

ขณะที่ภาคการผลิตก็ต้องประสบปัญหาเดียวกัน อาทิ บริษัทเฮลตี้ โกล์ฟ จำกัด ประกอบกิจการผลิตถุงมือยาง จังหวัดสงขลา ที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจจนต้องปิดกิจการ ส่งผลให้ต้องเลิกจ้างพนักงานกว่า 500 คน เช่นเดียวกับ บริษัท พี ดับบลิว เค จิวเวลรี่ จำกัด ประกอบกิจการผลิตและส่งออกเครื่องประดับอัญมณี ในจังหวัดจันทบุรี ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจและต้องเลิกจ้างพนักงานกว่า 600 คน หรือแม้แต่ธุรกิจข้ามชาติค้าปลีกรายใหญ่อย่างเทสโก้ โลตัสยังมีการจ้างพนักงานออกถึง 45,000 คน พร้อมปิดสาขาอีก 43 สาขาทั่วประเทศ

ปลดพนักงาน

จะเห็นได้ว่าแม้แต่บริษัทที่มีถูกมองว่าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีความมั่นคงสูง ก็ยังต้องปรับโครงสร้างทางธุรกิจใหม่ เพื่อให้สามารถอยู่รอดภายใต้สภาพธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งในประเทศไทยยังมีบริษัทอีกจำนวนมากที่มีการเลิกจ้าง ปรับลดพนักงาน หรือแม้แต่ปิดกิจการจากภาวะเศรษฐกิจ

ในต่างประเทศเอง บริษัทชั้นนำจำนวนมาก ก็ประสบปัญหาต้องปรับโครงสร้างและลดพนักงานเช่นกัน โดยบริษัท Kimberly-Clark นั้นมีการปรับลดพนักงานลง 5,000 คน พร้อมทั้งปิดโรงงานจำนวน 10 แห่ง หลังจากยอดขายลดลง ด้านคาร์ฟูร์ บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ประกาศลดจำนวนพนักงาน 2,400 คนในฝรั่งเศส เพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งหันไปทำธุรกิจในภาคออนไลน์มากขึ้น เช่นเดียวกับ IKEA ที่เตรียมปลดพนักงานกว่า 7,500 คนในส่วนงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น เจ้าหน้าที่ธุรการ ที่ปัจจุบันสามารถทดแทนได้ด้วยระบบ AI และ Software ซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่า โดยจำนวนพนักงานที่คาดว่าจะถูกเลิกจ้างคิดเป็น 5% ของพนักงานทั้งหมด

 

 

Kimberly-Clark
IKEA

ธุรกิจยานยนต์เองก็มีการปลดพนักงานจำนวนไม่น้อย โดย GM เจ้าของแบรนด์ Chevrolet และ Cadillac เตรียมปลดพนักงานส่วนผลิตรถยนต์ใช้น้ำมัน 14,000 คน พร้อมทั้งปิดโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันอีก 7 แห่งในปี 2562 ซึ่งแม้ว่ายอดขายของ GM จะค่อนข้างดี แต่ทางบริษัทมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้าง เพื่อเดินหน้าในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไร้คนขับ เช่นเดียวกับ Tesla ซึ่งเตรียมปลดพนักงานประมาณ 4,000 คนหรือราว 9% เพื่อลดต้นทุนการผลิต และช่วยให้บริษัทสามารถอยู่รอดได้

General Motors
Tesla

กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีก็ไม่รอด บริษัท Microsoft เตรียมปรับโครงสร้างลดพนักงานอีกครั้ง คราวนี้คาดว่าน่าจะปลดนับร้อยคน ในส่วนทีมงาน 3D เช่นเดียวกับ Qualcomm บริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าของชิปชื่อดัง SnapDragon และ Centriq ที่ตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายทั่วโลกให้ได้ 1 พันล้านเหรียญฯ โดยเบื้องต้นมีการปลดพนักงานแล้ว 1,200 คน และน่าจะมีการปลดพนักงานเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

Microsoft

ยักษ์ใหญ่ในเอเชีย อย่างญี่ปุ่น และไต้หวันก็เช่นกัน Toshiba บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ประกาศปลดพนักงาน 7,000 คน หรือคิดเป็น 5% ของบริษัท โดยจะไม่มีการรับพนักงานใหม่เพื่อทดแทนพนักงานเก่าอีกด้วย นอกจากนี้ยังประกาศขายธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ยกเลิกโครงการพลังงานนิวเคลียร์ในอังกฤษ หันมาโฟกัสธุรกิจ การผลิตชิป และเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน ซึ่งถือเป็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เช่นเดียวกับ HTC ของไต้หวัน ที่ประกาศปลดพนักงานฝ่ายผลิต 1,500 คน เพื่อลดต้นทุนและปรับโครงสร้างธุรกิจ

Toshiba

หรือแม้แต่ธุรกิจขุดเหมืองคริปโตรายใหญ่ระดับโลกจากจีนก็ยังต้องปลดคนออกกว่าครึ่ง โดยตัวเลขอาจสูงถึง 3,100 คน ทั้งที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 นี้เอง

ปัญหาการปลดคนกำลังเป็นแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในทษวรรษนี้อย่างแน่นอน ทั้งจากการปรับโครงสร้างธุรกิจให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต  รวมไปถึงการบริโภคในยุคดิจิตอลกำลังส่งผลกับภาคแรงงานและธุรกิจอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ รวมไปถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และอนาคตที่ไม่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้ทุกธุรกิจเน้นลดต้นทุนเป็นอันดับแรกคือการปลดคน

unemployment

การปรับเปลี่ยนงานแบบเดิมเป็นงานแบบใหม่ที่เข้ากับยุคสมัยเป็นสิ่งที่จำเป็น และต้องรู้และเข้าใจด้วยว่างานไหนคืองานแห่งอนาคตที่เหมาะสมกับเรา การถูกปลดออกจากงานเป็นความเจ็บปวด แต่การปรับตัวก็เป็นความสามารถที่สำคัญของมนุษย์ที่ผ่านมาที่ทำให้สามารถเอาชีวิตรอดได้เช่นกัน ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส ใครปรับตัวได้ทันก็สามารถผ่านช่วงนี้ไปได้