19-03-2018

เมียนมาร์พร้อมแล้วกับการเป็นผู้ผลิตกาแฟพิเศษชั้นนำของภูมิภาค

บทความโดย
  • เมียนมาร์มีภูมิประเทศที่ราบสูงกว้างใหญ่ อากาศที่เหมาะสมกับการปลูกกาแฟชั้นยอดแห่งหนึ่งของภูมิภาคแต่ที่ต้องการเพิ่มเติมคือเทคโนโลยีช่วยการผลิต
  • เมียนนมาร์เริ่มมีผู้เชี่ยวชาญการปลูกกาแฟ การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ จนถึงการคั่วกาแฟจากต่างประเทศ เข้าไปช่วยพัฒนากระบวนการผลิตมากขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา
  • เมียนมาร์กำลังต้องการเปลี่ยนตัวเองให้เป็นผู้ผลิตกาแฟคุณภาพสูง รายสำคัญของภูมิภาคทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณภายในปี 2030 เป็นอย่างน้อย

ต้องขอบคุณสภาพอากาศกับภูมิประเทศที่ทำให้กาแฟเจริญเติบโตได้ดี และเทคโนโลยีใหม่จากต่างแดนที่พัฒนาคุณภาพของเมล็ดให้ดีขึ้น ทำให้เมียนมาร์ หนึ่งในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นคลื่นลูกใหม่ในวงการธุรกิจกาแฟ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตกาแฟคุณภาพสูงด้วยกาแฟพิเศษรสชาติเฉพาะ

ภาพตากเมล็ดกาแฟในรัฐฉาน, เมียมาร์ (ภาพจาก Pinterest โดย Losa Shu )

จุดเริ่มต้นมาจากต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีชื่อว่า สมาคมผู้คั่วกาแฟแห่งญี่ปุ่น (All Japan Coffee Roasters Association) จำนวน 35 คน นำโดย ยูกาตะ ชิบาตะ (Yukata Shibata) ประธานบริษัทคีย์คอฟฟี (Key Coffee) ได้เยี่ยมชมโรงงานแปรรูปในปินอูละวิน (Pyin Oo Lwin) หมู่บ้านที่ราบสูงเหนือ 1,100 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่ตั้งอยู่ประมาณ 70 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกจากมัณฑะเลย์ (Mandalay) เมืองใหญ่ในเมียนมาร์

โรงงานที่ว่านี้เป็นของบริษัทมัณฑะเลย์คอฟฟี่กรุ๊ป (Mandalay Coffee Group) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2014 ทำงานด้วยกัน 2 ฟังก์ชั่น ฟังก์ชั่นแรก คือการแปรรูปเมล็ดกาแฟ ด้วยการเก็บเมล็ดจากชาวไร่ในพื้นที่รัฐฉาน (Shan) และรัฐใกล้เคียง โดยเมื่อผลไม้สีแดงนี้ถูกปอกออกจากเนื้อเยื่อ (ชั้นใต้เปลือกนอกที่หุ้มเมล็ด) มันจะถูกนำไปตากแห้งและคั่ว ในแต่ละขั้นตอนที่หลากหลายนี้ จะทำให้กาแฟมีรสชาติเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับประเภทของเมล็ดนั้นๆ

อีกฟังก์ชั่นหนึ่ง คือการประเมินคุณภาพเมล็ดกาแฟ เพราะบริษัทได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมกาแฟพิเศษของสหรัฐอเมริกา (Speciality Coffee Association of America) จึงทำให้บริษัทสามารถคิดค้นวิธีการแปรรูปจากแต่ละไร่ให้แยกประเภทเมล็ดกาแฟได้

วิธีหนึ่งนั้นคือ “การคัปปิ้ง” (Cupping – การชิมกาแฟ) ที่วัดเกณฑ์กาแฟที่ชงแล้วด้วยกลิ่นและรสชาติ คล้ายการชิมไวน์ โดยระหว่างที่กลุ่มชาวญี่ปุ่นเยี่ยมชมโรงงานนั้น สมาชิกคนนึ่งได้ชิมกาแฟหลายแก้ว และอธิบายแต่ละรสชาติด้วยวลีเช่นว่า “กลิ่นหวานเหมือนช็อกโกแล็คหรือถั่ว” และ “กรดใสๆ เหมือนแอปเปิ้ลหรือมะนาว”

เมื่อมีการจัดตั้งมาตรฐานแล้ว คุณภาพจึงเริ่มพัฒนาขึ้น ในปี 2016 เมียนมาร์ผลิตกาแฟชนิดของตนเองได้เป็นครั้งแรก ทำคะแนนเกิน 80 แต้มตามเกณฑ์คะแนนของ SCAA และได้ชื่อว่าเป็น “กาแฟพิเศษ”

เอมี่ แวนน็อคเกอร์ (Amy VanNockey) ผู้เชี่ยวชาญจาก SCAA ที่ถูกส่งไปทำงานกับมัณฑะเลย์คอฟฟี่กรุ๊ป กล่าวว่า เมียนมาร์มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานด้านกาแฟ โดยเป็นผู้ปลูกทั้งเมล็ดคุณภาพเกรดต่ำและเกรดสูง เธอยังระบุว่า การจัดตั้งเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจนเช่นนี้ ได้ทำให้การคัดเลือกเมล็ดกาแฟเป็นไปอย่างแม่นยำขึ้น และทำให้คุณภาพถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

เนื่องจาก ได้มีเทรนด์ความสนใจกาแฟชงพรีเมี่ยมชนิด “คลื่นลูกที่สาม” ในประเทศที่ดื่มกาแฟราคาแพง ซึ่งต้องการดึงลักษณะพิเศษและเฉพาะของเมล็ดกาแฟออกมา ประกอบกับอุปสงค์ของกาแฟที่ปลูกในพื้นที่ต่างแดนกำลังเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทกาแฟในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น หันความสนใจให้กับเมียนมาร์

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี แทบไม่มีใครมองเมียนมาร์เป็นประเทศผู้ปลูกกาแฟอย่างจริงจัง แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว และเมื่ออุปสงค์ได้เพิ่มขึ้น ราคาของเมล็ดกาแฟเมียนมาร์ได้เพิ่มขึ้นตาม หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายงานว่า ราคาเมล็ดกาแฟส่งออกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากราคาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็นราคาตันละ 3,000 – 7,000 ดอลลาร์

แต่การผลิตในประเทศก็ยังถูกมองข้ามไปเพราะการผลิตของประเทศเพื่อนบ้าน ข้อมูลปีงบประมาณของรัฐบาลเมียนมาร์ระบุว่า ปี 2016 เมียนมาร์ผลิตกาแฟได้ 8,500 ตัน ในขณะที่เวียดนามและอินโดนีเซียผลิตได้ 1.7 ล้านและ 650,000 ตันตามลำดับ ดังนั้น ภายในปี 2030 รัฐบาลหวังเพิ่มพื้นที่ปลูกกาแฟให้เป็น 80,000 เฮกตาร์ (เพิ่มขึ้น 12,000 เฮกตาร์จากปัจจุบัน) เพื่อให้กาแฟกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ

กระแสการผลิตเมล็ดกาแฟนี้ขยายตัวไปทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) รายงานว่า ระหว่างปี 2006 ถึง 2016 ปริมาณการผลิตกาแฟทั่วโลกสูงขึ้น 13% เป็น 9.22 ล้านตัน

เพราะมีตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วเช่น จีน การผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงขยายตัวขึ้นเป็น 2 เท่า สูงขึ้น 25% โดยในปี 2016 ภูมิภาคนี้มีผลผลิตเป็นเมล็ดกาแฟจำนวน 2.36 ล้านตัน เป็นสาเหตุให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ผลิตกาแฟ 1 ใน 4 ของโลก เป็น 2 เท่าของแอฟริกาที่เราคิดว่ากาแฟส่วนใหญ่มาจากที่นั้น

อีกดาวรุ่งหนึ่งคือเวียดนาม ที่ผลิตกาแฟเพิ่มขึ้นเป็น 58 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ไล่ตามอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ได้ในช่วงทศวรรษที่ 1990 และตอนนี้ถือครองเป็นผู้ผลิตกาแฟที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก รั้งท้ายบราซิลเท่านั้น ขณะเดียวกัน ลาวก็กำลังเพิ่มพื้นที่สำหรับการผลิตเป็น 2 เท่า จาก 140,000 ตัน เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว

แม้ว่ากาแฟพิเศษของเมียนมาร์กำลังเป็นที่น่าสนใจสำหรับหลายคน แต่ปัญหาคือการผลิต ที่ผลผลิตนั้นยังน้อยเกินไปสำหรับบริษัทกาแฟใหญ่ๆ ที่จะนำไปใช้ผสมของตัวเองหรือสินค้าอื่น ข้อมูลของ FAO กล่าวว่าผลผลิตของเมียนมาร์ต่อเฮกตาร์นั้น เป็นเพียงแค่ 26% ที่เวียดนามทำได้ต่อพื้นที่ขนาดเท่ากัน แต่เพราะเมียนมาร์มีพื้นที่ราบสูงกว้าง เหมาะแก่การทำไร่กาแฟ ดังนั้นแล้ว หากเมียนมาร์ต้องการมีผลผลิตที่งอกงามอุตสาหกรรมในประเทศต้องมีเทคโนโลยีการผลิตจากต่างชาติที่ดีกว่าเดิมด้วย

Source: Nikkei