22-04-2019

มาตรการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 15% ผลกระทบต่อสังคมและประชาชน

บทความโดย

ในห้วงเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา กรมสรรพากรกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งที่ได้รับความสนใจ และถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการเปลี่ยนมาตรการการเรียกเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเรื่องแนวคิด ความเข้าใจ และผลกระทบที่มีต่อประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมองว่าเป็นการเพิ่มภาระด้านภาษีให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย

ข้อเท็จจริงด้านกฎหมาย     

เมื่อพูดถึงมาตรการการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นั้น ต้องระบุไปที่กฎหมาย 2 ฉบับ นั่นก็คือ กฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 126(พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร  ข้อ 38 และ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 55 ข้อ 2

“ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร เฉพาะที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ที่ไม่ใช้เช็คในการถอนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านระบบการหักหรือโอนเงินจากบัญชีดังกล่าวไปยังบัญชีเงินฝากกระแสรายวันหรือบัญชีเงินฝากอื่นใด และมีจำนวนดอกเบี้ยรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น”

ต่อมาทางกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 344 ที่มีการปรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการยกเว้นภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ โดยให้ยกเลิกประกาศฉบับที่ 55 แล้วให้ดำเนินการตามข้อ 3 ในประกาศฉบับที่ 344

“ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

(1) ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชีรวมกัน มีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น

(2) ชื่อบัญชีเงินฝากและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ใช้ในการเปิดบัญชีเงินฝาก จะต้องเป็นของผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากนั้น

(3) ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากต้องยินยอมให้ธนาคารทุกธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากของผู้มีเงินได้ต่อกรมสรรพากรตามรูปแบบที่ธนาคารกำหนดโดยให้ธนาคารนำส่งข้อมูลดังกล่าวต่อกรมสรรพากรตามข้อ 5และเก็บหลักฐานการยินยอมไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบต่อไป

(4) ผู้มีเงินได้ต้องไม่นำดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”

กรมสรรพากร

แนวคิด และปัญหา ของกรมสรรพากร

แนวคิดการปรับเปลี่ยนมาตรการการยกเว้นภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นั้น นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ระบุว่า เป็นแนวคิดที่ต้องการแก้ไขปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของสถาบันการเงินบางแห่งที่ทำการช่วยเหลือลูกค้ารายใหญ่ที่มีเงินฝากออมทรัพย์จำนวนมากกว่า 4,000,000 บาท ซึ่งเข้าข่ายมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์มากกว่า 20,000 บาทต่อปี ย้ายบัญชีก่อนที่จะต้องเสียภาษี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง

จึงได้มีการปรับมาตรการให้มีการเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่มีจำนวนต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปีด้วย ยกเว้นเจ้าของบัญชีที่มีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์น้อยกว่า 20,000 บาทต่อปีจะเซ็นยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลทางบัญชีให้แก่กรมสรรพากร

ผลกระทบ

การปรับมาตรการการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ครั้งนี้ แม้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวคิดด้านการเก็บภาษีมากนัก เพราะประชาชนเจ้าของบัญชีที่เข้าข่ายได้รับการยกเว้นการเก็บภาษี ยังสามารถที่จะได้รับการยกเว้นหากทำตาม “เงื่อนไข” ยินยอมให้ธนาคารส่งมอบข้อมูลบัญชีให้แก่กรมสรรพากร เพื่อให้ได้รับการยกเว้นภาษี หรืออาจไปทำเรื่องขอคืนภาษีได้ แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นการสร้างภาระและผลกระทบแก่ประชาชนในหลายมิติ เช่น การที่ประชาชนต้องไปเซ็นยินยอมให้ธนาคารและสถานบันการเงินเปิดเผยข้อมูลทางบัญชีแก่กรมสรรพากร การเสียประโยชน์จากการไม่รู้ข้อมูลของประชาชนผู้มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ความยุ่งยากในการทำเรื่องขอเงินภาษีคืน และปัญหาเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ความลับทางบัญชีที่ต้องให้แก่กรมสรรพากร

บัญชีเงินฝากออมทรัพย์

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำนวนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในประเทศไทย จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2562 พบว่ามีจำนวนบัญชีเงินเงินฝากแบบออมทรัพย์ทั้งหมด 88,074,876 บัญชี มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มียอดเงินในบัญชีมากกว่า 1 ล้านบาทเพียง 62,993 บัญชี หรือคิดเป็น 0.071% เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบตามจำนวนบัญชีที่สามารถได้รับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์มากกว่า 20,000 บาท นั้นจึงมีไม่ถึง 0.071% ของจำนวนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งระบบ การออกมาตรการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์แบบใหม่นี้ จึงอาจเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด และส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้มีบัญชีออมทรัพย์ส่วนใหญ่ของประเทศมากกว่าเป้าหมายที่กระทรวงการคลัง และกรมสรรพากรระบุไว้ตามแนวคิด

บัญชีเงินฝากออมทรัพย์

นี่จึงเป็นสาเหตุที่บุคคลในสถาบันการเงินต่างออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อมาตรการการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ใหม่ของกรมสรรพากร นอกจากนี้การสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนยินยอมให้ธนาคารส่งมอบข้อมูลบัญชีของตนให้กับกรมสรรพากรเพื่อได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีจากดอกเบี้ยออมทรัพย์นั้น ก็อาจสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโดยรวมได้ เพราะอาจถูกมองว่ารัฐบาลต้องการรับทราบข้อมูลบัญชีเงินฝากของบุคคลและนิติบุคคลทั้งที่ไม่มีสิทธิ์ในกฎหมายปกตินั่นเอง

นอกจากนี้ยังอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนิติบุคคล รวมไปถึง Startup และ SME ในการลงทุนของไทย เพราะเงื่อนไขที่ต้องยินยอมส่งข้อมูลบัญชีให้กับหน่วยงานราชการเพื่อได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีจากดอกเบี้ยออมทรัพย์ รวมไปถึงความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลทางบัญชีเมื่อต้องส่งให้ภาครัฐรับทราบ