27-05-2023

จับประเด็นประชุม G7 ที่ฮิโรชิม่า

บทความโดย

เบนซ์ สุดตา

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศหรือ G7 Summit ณ เมืองฮิโรชิม่าประเทศญี่ปุ่นซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2023 เป็นที่น่าจับตามากภายใต้บริบทหลายอย่างที่ล้วนสำคัญต่อการเมืองโลก โดย G7 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในปีนี้พิเศษกว่าปีที่ผ่านมาเนื่องจาก

  • เป็นครั้งแรกที่มีการเชิญกลุ่มประเทศที่เรียกว่า Global South อันได้แก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจทั้งหลายซึ่งมักอยู่ในซีกโลกใต้ มาร่วมประชุมเป็นครั้งแรก โดยประเทศที่ได้รับเชิญในครั้งนี้คือ อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล โคโมรอส นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นในเอเชียและแปซิฟิกได้แก่ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ เวียดนาม และหมู่เกาะคุ้กเข้าร่วมด้วย
  • เสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ นิวเคลียร์ กลายเป็นประเด็นสำคัญของโลกอีกครั้งนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น ภายใต้ความเสี่ยงของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสมรภูมิยูเครน และการเติบโตขึ้นของคลังแสงนิวเคลียร์ของจีนที่สร้างความกังวลในภูมิภาค
  • ประเด็นความมั่นคงที่มีมิติหลากหลายมากขึ้นทั้งสงครามยูเครน, ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน, เสถียรภาพในห่วงโซ่อุปทาน, ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและประเด็นด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้การประชุมสุดยอดผู้นำ G7 สิ้นสุดลงด้วยถ้อยแถลงและข้อตกลงต่างๆในหลายประเด็นที่จะกำหนดทิศทางของโลกในอนาคตภายใต้การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยสาระสำคัญของการประชุม G7 ที่ฮิโรชิม่าสามารถสรุปได้ดังนี้

  • ยูเครน G7 จะยังคงสนับสนุนยูเครนตราบเท่าที่ยูเครนจะยืนหยัดได้ท่ามกลางการรุกรานจากรัสเซีย พร้อมประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติมเพื่อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการทำสงครามและแหล่งรายได้ของรัสเซียจากการส่งออกแร่โลหะและเพชร
  • นิวเคลียร์ เพิ่มความเข้มแข็งให้กับกลไกด้านการปลดอาวุธและไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์และความมั่นคงที่ยืนยงสำหรับทุกคน ภายใต้ วิสัยทัศน์ฮิโรชิม่า ว่าด้วยการปลดอาวุธนิวเคลียร์ โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการหยุกยั้งการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ ความโปร่งใสด้านข้อมูลคลังอาวุธ รวมถึงความโปร่งใสของคลังพลูโตเนี่ยมเพื่อกิจการนิวเคลียร์ของภาคพลเรือนที่ต้องไม่มีการอำพรางเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านทางทหาร
  • ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ G7 ยืนยันถึงการมั่นคงในหลักการของกติกาสากลในการเป็นกลไกอำนวยความสะดวกในด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานและวัตถุดิบที่สำคัญ G7 จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลและเตรียมการรับมือ การข่มขู่ทางเศรษฐกิจ และคณะทำงานเพื่อความมั่นคงด้านแร่ธาตุสำคัญ เพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง มีความมั่นคง บนพื้นฐานกติกาสากล และรับมือการใช้อาวุธเศรษฐกิจเพื่อโจมตีจุดอ่อนไหวของประเทศในกลุ่ม ขณะเดียวกัน G7 ประกาศชัดว่าไม่ต้องการ หย่าขาด หรือ de-coupling แต่มีเป้าหมายอยู่ที่ ตัดความเสี่ยง หรือ de-risking ในแง่ของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ G7 เน้นย้ำถึงความพยายามในการบรรลุเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส, หยุดยั้งและย้อนสภาพความสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็น 0 ภายในปี 2050 โดย G7 จะให้ความสำคัญในการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด G7 จะช่วยสนับสนุนเพื่อให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานสะอาดในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศร่วมกัน
  • ประเทศกลุ่ม Global South G7 ยืนยันในพันธะภายใต้กรอบ หุ้นส่วนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนโลก หรือ PGII ในการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนมูลค่า 600,000 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางภายในปี 2027 รวมถึงส่งเสริมให้ประเทศในกลุ่มนี้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ของสหประชาชาติ G7 จะสนับสนุนด้านทรัพยากรเพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องวิกฤตหนี้สิน ความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตด้านมนุษยธรรมให้กับประเทศในกลุ่มนี้ด้วย
  • ความมั่นคงทางอาหาร G7 และประเทศที่ได้รับเชิญในปีนี้ได้ออก แถลงการณ์แผนปฏิบัติการฮิโรชิม่าเพื่อความมั่นคงทางอาหารที่ทนทาน เพื่อตอบสนองต่อปัญหาวิกฤตอาหารโลกหลังสงครามยูเครนปะทุขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้กลไกระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาวิกฤตอาหารในประเทศที่เปราะบาง รวมถึงการสร้างกลไกเพื่อรับมือวิกฤตอาหารในอนาคตและการบรรลุเป้าหมายโภชนาการสำหรับทุกคน
  • ปัญญาประดิษฐ์ G7 จะส่งเสริมให้มีการถกเถียงในประเด็นของการกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance) อย่างมีส่วนร่วมและความสามารถในการปฏิบัติที่เชื่อมโยงถึงกันได้ (Interoperability) เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันและความไว้วางใจได้ของปัญญาประดิษฐ์โดยสอดคล้องกับคุณค่าประชาธิปไตย
  • ควอนตัมคอมพิวติ้ง (Quantum Computing) บริษัท IBM และ Google ประกาศวงเงินลงทุน 100 ล้าน และ 50 ล้านดอลลาร์ตามลำดับภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชิคาโก้และมหาวิทยาลัยโตเกียวในระยะเวลา 10 ปี โดยบริษัท IBM จะร่วมมือกับทั้ง 2 มหาวิทยาลัยในการสร้าง supercomputer บนฐานเทคโนโลยีควอนตัมภายใต้กำลังประมวลผล 100,000 คิวบิท ขณะที่ฝั่ง Google ประกาศจับมือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับทั้ง 2 สถาบันเพื่อทำการพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่ ทนทานต่อความผิดพลาด (fault-tolerant) และจะช่วยสร้างบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมควอนตัมคอมพิวตั้งในอนาคตด้วย

ทัศนะต่อการประชุม G7 ที่ฮิโรชิม่า

จากที่สรุปประเด็นมาทั้งหมดจะเห็นว่า การประชุม G7 ในปีนี้เกิดขึ้นภายใต้หลายๆบริบทที่สำคัญพร้อมกันไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การพัฒนา รวมถึงเทคโนโลยีที่จะชี้ชะตาอนาคตความเป็นมหาอำนาจโลกด้วย ทั้งนี้จีนถือเป็นความท้าทายสำคัญในสายตา G7 แต่ด้วยมิติที่เปลี่ยนไป จีนในสายตา G7 เป็นทั้งคู่แข่งและภัยคุกคามทั้งในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ความมั่นคง การต่างประเทศ และล่าสุดคือเรื่อง นิวเคลียร์ ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของเพนตากอนและวงผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ในสหรัฐฯต่างเห็นตรงกันว่า จีนกำลังเปลี่ยนสถานะจากมหาอำนาจนิวเคลียร์ขนาดกลางมาอยู่ในสถานะผู้ถือดุลนิวเคลียร์โลกระดับเดียวกับสหรัฐฯและรัสเซียในอนาคต เมื่อพิจารณาจากทิศทางการเพิ่มหัวรบและความซับซ้อนของกองกำลังนิวเคลียร์และการขึ้นชั้นเป็น Nuclear Triad

เมื่อผนวกกับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์และด้านนิวเคลียร์ระหว่างจีนและรัสเซีย ทำให้ G7 ย่อมเป็นกังวลต่อสถานการณ์ในอนาคตทั้งในด้านการเมืองระหว่างประเทศเองและพลวัตด้านนิวเคลียร์ที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์จนเกิดรัฐนิวเคลียร์ใหม่ๆและการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในความขัดแย้งในอนาคต

ขณะเดียวกันสงครามในยูเครนยังแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในด้านพลังงาน อาหาร และห่วงโซ่อุปทานที่สามารถปั่นป่วนและวิกฤตได้ตลอดเวลาหากประเทศที่เป็นผู้ผลิตหลักไม่สามารถส่งออกได้ตามปกติ หรือแม้กระทั่งใช้ทรัพยากรที่มีเป็น อาวุธทางเศรษฐกิจ การขับเคี่ยวกันระหว่างจีนและสหรัฐฯในการใช้พลังทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ตัวเองกุมไว้ก็ยิ่งตอกย้ำถึงความเสี่ยงในด้านนี้ ฉะนั้นแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่ม G7 จะแสวงหาแนวทางในการลดผลกระทบหากเกิดการปิดกั้นการไหลเวียนของวัสดุหรือแร่ธาตุที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมและความมั่นคงในอนาคต ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมมาตรการเพื่อการตอบโต้ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจที่จะเป็นเครื่องมือทางอำนาจชิ้นใหม่ที่จะใช้กันมากขึ้นด้วย

นอกจากเรื่องความมั่นคงทางวัตถุดิบแล้ว สงครามในยูเครนยังทำให้เราได้เห็นกลุ่มพลังทางการเมืองใหม่ที่ทวีความสำคัญมากขึ้นนั่นคือกลุ่มประเทศซีกโลกใต้หรือ Global South ซึ่งวางท่าทีเป็นกลางไม่มีการประณามหรือคว่ำบาตรรัสเซีย ขณะเดียวกันประเทศในกลุ่มนี้ซึ่งอยู่ในเอเชียใต้ แอฟริกา อาเซียน และละตินอเมริกายังเป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุดในโลก มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง และยังกุมแหล่งทรัพยากรที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตไว้ด้วย เราได้เห็นกลุ่ม G7 พยายามที่จะเข้าหาประเทศในกลุ่มนี้มากขึ้นเพื่อตอบโต้จีนและรัสเซียที่แผ่อิทธิพลในกลุ่มนี้มากผ่านโครงการ BRI และความช่วยเหลือทางการเงินและการพัฒนาต่างๆ เพื่อให้ G7 ได้แรงสนับสนุนทางการทูตในอนาคต และเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆได้อีกด้วย

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือเรื่องของ เทคโนโลยีเกิดใหม่ หรือ Emerging Technologies ที่จะเป็นอนาคตใหม่ของโลกและจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการครองอำนาจโลกในอนาคตด้วย ทั้งนี้เทคโนโลยีสำคัญที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็ตามคือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence/AI) และ ควอนตัมคอมพิวติ้ง (Quantum Computing) ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมในอนาคตและมีบทบาทสำคัญในความมั่นคงและการทหารด้วย ทั้งนี้จีนเองก็ยกให้เทคโนโลยี 2 ตัวนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับจีนขึ้นเป็นมหาอำนาจชั้นนำของโลกทั้งในทางเศรษฐกิจและการทหาร ขณะเดียวกันปรากฏการณ์ของ ChatGPT และพัฒนาการที่รวดเร็วของควอนตัมคอมพิวตั้งก็ทำให้กลุ่ม G7 ต้องริเริ่มในเรื่องของการกำกับดูแลเทคโนโลยีแห่งอำนาคต พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาและรักษาความได้เปรียบในเทคโนโลยีเหล่านี้ไว้ด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นการตอกย้ำถึงการแบ่งขั้วที่ชัดเจนขึ้นระหว่างขั้วโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐฯและขั้วอำนาจนิยมที่นำโดยจีนที่แข่งขันเพื่อชิงความได้เปรียบในทุกด้าน

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

  1. https://www.g7hiroshima.go.jp/en/documents/
  2. https://news.uchicago.edu/story/university-chicago-joins-global-partnerships-advance-quantum-computing
  3. https://www.aljazeera.com/news/2023/5/19/g7-tightens-sanctions-over-russia-war-ukraine
  4. https://www.defense.gov/News/Releases/Release/Article/3230516/2022-report-on-military-and-security-developments-involving-the-peoples-republi/