27-02-2020

เนื้อสัตว์ 2.0 มุ่งสู่อนาคตที่ปราศจากการฆ่า

บทความโดย

Rapeepat Ingkasit

  • อุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่นำไปสู่สารพัดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากภาคการเกษตรจะปล่อยแก๊สเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 24 ของกิจกรรมมนุษย์ทั้งโลก ภาคการเกษตรว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือการรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติเพื่อแปลงพื้นที่มาปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งส่วนใหญ่ถูกป้อนเข้าสู่สายพานการผลิตอาหารสัตว์ ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การสรรหาสินค้าเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์
  • Beyond Meat และ Impossible Foods คือสตาร์ตอัพเจ้าตลาดเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืช โดยใช้ส่วนผสมอาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ควินัว และอื่นๆ โดยไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ทั้งสองแบรนด์ได้รับการตอบรับดีเยี่ยมจากผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญมองว่าตลาดเนื้อสัตว์มีโอกาสเติบโตสูงถึงปีละ 15 เปอร์เซ็นต์
  • อีกแนวทางหนึ่งคือการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์จากเซลล์ ซึ่งกลายเป็นจริงได้โดย มาร์ค โพสต์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาสตริตช์ ที่ความสำเร็จในการ ‘ปลูก’ เนื้อสัตว์จากเซลล์ในห้องทดลองเพื่อนำไปทำเบอร์เกอร์ ด้วยต้นทุนราวสิบล้านบาท ปัจจุบันมีสตาร์ตอัพทั้งในสหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ และอีกหลากหลายประเทศแข่งขันกันลดต้นทุนและปรับปรุงกระบวนการผลิตเตรียมความพร้อมเพื่อวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าไม่อีกปีข้างหน้า เราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ปราศจากการฆ่าวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต

นับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันกรรมวิธีผลิตเนื้อสัตว์ก็แทบไม่ได้ผิดแผกแตกต่างจากเดิมมากนัก แม้จะมีการปรับปรุงสายพันธุ์ คิดค้นสารพัดนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิต แต่กระบวนการก่อนได้เนื้อสัตว์มาสักชิ้นก็ยังคงเป็น การเลี้ยงหมู ไก่ หรือวัว ให้เติบโตสมวัย เชือดชำแหละ แล้วนำมาจำหน่าย

เนื้อสัตว์ที่ครั้งหนึ่งเคยสงวนไว้เฉพาะช่วงเวลาพิเศษหรือชนชั้นสูง กลายเป็นสินค้าประจำบ้านที่ทุกคนสามารถหาซื้อได้ในราคาไม่แพงจากนวัตกรรมการขนส่งและการถนอมอาหาร เมื่อหลายประเทศหลุดพ้นจากความยากจน ความต้องการเนื้อสัตว์ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เช่นเดียวกับพื้นที่ผลิตอาหารสัตว์ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นราวร้อยละ 83 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดทั่วโลก แต่ในทางกลับกัน เนื้อสัตว์ที่ผลิตได้กลับเป็นเพียงร้อยละ 18 ของแคลอรี และราวร้อยละ 37 ของโปรตีนที่เราได้รับในแต่ละวัน

สาเหตุสำคัญคือ ‘พลังงาน’ ที่สูญหายไประหว่างทาง เนื่องจากอาหารสัตว์ 1 กิโลกรัมไม่ได้แปลงเป็นเนื้อสัตว์ได้ 1 กิโลกรัม โดยเนื้อบางชนิด ตัวอย่างเช่น เนื้อวัวต้องใช้อาหารสัตว์น้ำหนักถึง 20 กิโลกรัมต่อการผลิตเนื้อเพียง 1 กิโลกรัม

ไม่น่าแปลกใจนักที่อุตสาหกรรมการเกษตรจะถูก ‘เพ่งเล็ง’ ว่าเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่นำไปสู่สารพัดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากภาคการเกษตรจะปล่อยแก๊สเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 24 ของกิจกรรมมนุษย์ทั้งโลก รายงานล่าสุดของคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการ (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services: IPBES) ยังโจมตีภาคการเกษตรว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือการรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติ เพื่อแปลงพื้นที่มาปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย ซึ่งส่วนใหญ่ถูกป้อนเข้าสู่สายพานการผลิตอาหารสัตว์

นอกจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีกระแสความกังวลด้านสิทธิสัตว์ แม้ว่าสัตว์เหล่านั้นจะมีจุดจบที่โรงเชือด แต่หลายคนก็มองว่าเราควรดูแลสัตว์อย่างมีมนุษยธรรม ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย และกระบวนการเชือดที่ไม่ทารุณกรรม

วิกฤติย่อมมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจ แรกเริ่มเดิมที องค์กรไม่แสวงหากำไรและองค์กรภาคเอกชนได้ออก ‘ฉลากเขียว (ecolabel)’ เพื่อแย่งผลผลิตจากสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเคารพต่อสิทธิสัตว์ออกจากผลิตภัณฑ์ทั่วไป ในขณะที่ประกอบการรุ่นใหม่ได้แสวงหานวัตกรรมเพื่อสรรค์สร้างเนื้อสัตว์ยุคใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์เพื่อให้ได้เนื้ออีกต่อไป แนวทางหนึ่งคือการผลิตเนื้อสัตว์จากพืชล้วนๆ ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือการ ‘ปลูก’ เนื้อสัตว์จากเซลล์ในห้องทดลอง (cultured meat)

เนื้อสัตว์ที่ไร้เนื้อสัตว์

ครั้งแรกที่ได้ยินคำว่าเนื้อสัตว์ที่ไร้เนื้อสัตว์ (meatless meat) หลายคนอาจคิดถึงเนื้อสัตว์ซึ่งผลิตจากเต้าหู้หรือโปรตีนเกษตรซึ่งเราคุ้นเคยกันดีในช่วงเทศกาลกินเจ แน่นอนว่า ‘เนื้อสัตว์ปลอม’ ไม่ใช่อาหารโปรดของใครหลายคน (รวมถึงผู้เขียน) แต่นวัตกรรมเนื้อสัตว์ที่ไร้เนื้อสัตว์ซึ่งถูกจับตามองอย่างมากในฐานะ ‘ดาวรุ่ง’ ในตลาดสหรัฐอเมริกานำเสนอผลิตภัณฑ์ซึ่งจะทำให้เราแทบไม่เชื่อสายตาว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคือเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืช

Beyond Meat และ Impossible Foods คือสตาร์ตอัพเจ้าตลาดเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืช โดยใช้ส่วนผสมอาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ควินัว และอื่นๆ โดยมีจุดต่างสำคัญคือ Beyond Meat ใช้โปรตีนสกัดจากถั่ว ในขณะที่ Impossible Foods ใช้โปรตีนสกัดพิเศษลีฮีโมโกลบิน (leghemoglobin) หรือฮีม ซึ่งทำให้เนื้อของ Impossible Foods มีเสมือนว่ามี ‘เลือดชุ่มฉ่ำ’ เหมือนเนื้อจริงๆ เมื่อนำไปปรุงอาหาร

ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ผลิตจากพืชของ Beyond Meat ที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ภาพจาก Wikipedia

สตาร์ตอัพเนื้อสัตว์ไร้เนื้อสัตว์ทั้งสองเจ้าได้รับการรับรองว่าเป็นอาหารมังสวิรัติ โดยไม่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากสัตว์แม้แต่น้อย พร้อมกับจับมือกับแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดส์ชื่อดังทั้ง KFC และ Burger King เพื่อออกผลิตภัณฑ์อย่างไก่ทอดที่ไม่มีไก่ และเบอร์เกอร์เนื้อที่ไม่มีเนื้อ อีกทั้งยังวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตไม่ว่าจะเป็นนักเก็ต ไส้กรอก และมีตบอลปราศจากเนื้อสัตว์

ผู้บริโภคจำนวนมากให้ความเห็นว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไร้เนื้อสัตว์ถือว่ามีรสชาติที่น่าประทับใจและสามารถนำมาใช้แทนเนื้อสัตว์บดได้ แม้ว่าคนรักเนื้อจำนวนไม่น้อยยังรู้สึกถึงความ ‘แปลกแปร่ง’ จากเนื้อสัตว์ปกติ

สำหรับใครที่มองว่าทางเลือกเนื้อสัตว์ที่ไร้เนื้อสัตว์ดีต่อสุขภาพ ผู้เขียนขอบอกไว้ก่อนว่าคุณกำลังเข้าใจผิดนะครับ เพราะหากเทียบกันแบบหมัดต่อหมัดระหว่างเนื้อบดและเนื้อที่ทำจากพืช ผลปรากฏว่าทั้งสองอย่างให้แคลอรีใกล้เคียงกันอีกทั้งยังใช้เครื่องปรุงรส เช่น เกลือ มากกว่าหากต้องแปรรูปไปใช้ทำเบอร์เกอร์ อย่างไรก็ดี การรับประทานเนื้อสัตว์ไร้เนื้อสัตว์ ก็ช่วยลดความเสี่ยงต่อการรับโกรทฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะที่ใช้ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์

หุ้น Beyond Meat เสนอซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาเป็นวันแรกเมื่อ 2 พฤษภาคม 2562 โดยมีราคาเปิดตัว 25 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดโดยปัจจุบันซื้อขายกันอยู่ที่ราว 120 ดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่าตลาดเนื้อสัตว์มีโอกาสเติบโตสูงถึงปีละ 15 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังไม่มีผู้เล่นมากนักในตลาดจึงนับว่าอนาคตค่อนข้างสดใส ส่วนบริษัท Impossible Foods คู่แข่งรายสำคัญยังไม่มีแผนจะเสนอขายหุ้นในเร็ววันนี้

เนื้อสัตว์จากห้องทดลอง

เมื่อ พ.ศ. 2555 มาร์ค โพสต์ (Mark Post) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาสตริตช์ (Maastricht University) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ประกาศความสำเร็จในการ ‘ปลูก’ เนื้อสัตว์จากเซลล์ในห้องทดลอง โดยสามารถนำเนื้อดังกล่าวไปทำเบอร์เกอร์ได้ในราคาชิ้นละ 325,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือราวสิบล้านบาท คงไม่ต้องบอกนะครับว่าเนื้อสัตว์ดังกล่าวไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ แต่มันได้จุดประกายแสงแห่งความเป็นไปได้ของเนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อสัตว์จริงๆ ที่ได้มาโดยปราศจากการฆ่า

กระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ในห้องทดลอง คือการนำเซลล์จากสัตว์มาใส่ในสารอาหาร เกลือ สารละลายบัฟเฟอร์ และปัจจัยเร่งการเติบโต แล้วปล่อยให้เซลล์ดังกล่าว ‘เติบโต’ จนได้ปริมาณเพียงพอที่จะนำมารับประทานได้ แม้ว่ากระบวนการจะฟังดูไม่น่ารับประทานสักเท่าไหร่ แต่ก็มีการพิสูจน์แล้วว่าเนื้อสัตว์จากห้องทดลองรสชาติ ‘พอใช้ได้’ แต่ปัญหาใหญ่คือทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำพอจะวางจำหน่ายคู่กับเนื้อสัตว์ทั่วไป และเนื้อสัตว์จากพืชที่กลายเป็นเจ้าตลาดของเนื้อสัตว์ทางเลือก

แม้ว่าปัจจุบัน เนื้อสัตว์ที่ปลูกในห้องทดลองอาจยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่ตลาดมีการแข่งขันสูงอย่างยิ่งเพราะเต็มไปด้วยสตาร์ตอัพที่ต้องการเปิดตัวสู่สาธารณชนและชิงส่วนแบ่งตลาดเป็นรายแรก ตั้งแต่ Memphis Meats จากสหรัฐอเมริกาที่สร้างกระแสด้วยการเปิดตัว ‘มีตบอลจากเนื้อสัตว์จากเซลล์เพาะเลี้ยง’ เป็นรายแรกของโลกและเตรียมเดินหน้าขยายการผลิตเนื้อวัว ไก่ และเป็ด ในระดับอุตสาหกรรม Mosa Meat บริษัทสัญชาติดัทช์ที่ก่อตั้งโดยนวัตกรผู้ประสบความสำเร็จในการปลูกเนื้อสัตว์เป็นคนแรก โดยล่าสุดประกาศว่าลดต้นทุน 325,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อชิ้นเหลือเพียงราว 10 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

แต่หากจะกล่าวถึงอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ในห้องทดลอง ต้องมองไปที่อิสราเอลซึ่งมีสตาร์ตอัพจำนวนมาก เช่น  Future Meat Technologies ที่ค้นพบวิธีการปลูกเนื้อสัตว์รูปแบบใหม่และคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตเนื้อวัว 1 ปอนด์ให้เหลือ 10 ดอลลาร์สหรัฐในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือ Aleph Farms ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตเนื้อเสต็กเมื่อ พ.ศ. 2561 ไปจนถึงการทดลองการ ‘ปริ้นท์เชิงชีวภาพ’ เพื่อผลิตเนื้อสัตว์บนสถานีอวกาศนานาชาติ

ภาพเปรียบเทียบกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ระหว่างอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วไป และการผลิตเนื้อสัตว์โดยการเพาะจากเซลล์ ภาพจาก Aleph Farm

ส่วนแถบเอเชียเอง ก็มีดาวเด่นอย่าง Shiok Meats จากสิงคโปร์ที่ตั้งเป้านำร่องปลูกเนื้อสัตว์ทะเลเปลือกแข็งอย่างกุ้ง ปู และล็อบสเตอร์ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ส่วนญี่ปุ่นก็มีการจับมือทางธุรกิจเพื่อผลิตเนื้อวากิวโดยการเพาะเลี้ยงเซลล์

มีการศึกษาพบว่า เนื้อวัวที่เพาะจากเซลล์จะปล่อยแก๊สเรือนกระจกน้อยกว่าเนื้อวัวปกติถึง 95 เปอร์เซ็นต์ และใช้ที่ดินน้อยกว่าถึง 98 เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง โดยมีกำแพงเดียวที่ต้องข้ามคือความรู้สึก ‘แขยง’ ของผู้บริโภคเมื่อทราบว่าเนื้อสัตว์ที่รับประทานผลิตมาจากกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

คงไม่ผิดนักหากจะเรียกสองแนวทางนี้ว่าเป็นการผลิตเนื้อสัตว์ 2.0 ซึ่งสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะมาทดแทนเนื้อสัตว์จากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ทำให้การเลี้ยงเพื่อเชือดชำแหละกลายเป็นอดีต และยังช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคของมนุษย์ได้อีกด้วย