20-10-2018

ดราม่าการบินไทย กับปัญหาภายในที่แก้ไม่จบขององค์กร

บทความโดย
  • สังคมวิพากษ์การบินไทย เหตุนักบิน(Deadhead pilot) แย่งที่นั่งผู้โดยสารเที่ยวบิน TG971 จนเครื่องดีเลย์ 2 ชั่วโมงครึ่ง
  • นายกสมาคมนักบินไทย โพสต์ Facebook แจงเหตุทำไมนักบินต้องนั่ง First Class ชี้ถ้าถอยมากๆ วันหนึ่งจะไม่มีที่ยืน
  • ผลประกอบการการบินไทยรอบ 10 ปี มีกำไรเพียง 4 ปี สรุป 10 ปี ขาดทุนกว่า 46,000 ล้านบาท

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตกเป็นข่าวในสื่อกระแสหลักกันอีกครั้ง กับประเด็นดราม่าที่ร้อนแรงก่อนหมดสัปดาห์เรื่อง นักบินการบินไทย แย่งที่นั่ง First Class กับผู้โดยสาร เที่ยวบิน TG971 (ZRH-BKK)  ซูริค-สุวรรณภูมิ วันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ล่าช้ากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง

เรื่องราวดังกล่าวถูกเปิดเผยจากสื่อมวลชนจากการร้องเรียนของผู้โดยสารบนเที่ยวบินดังกล่าว ซึ่งต้องสละที่นั่งในชั้น First Class ให้กับคณะนักบินของการบินไทยที่จะเดินทางโดยสารกลับประเทศ(Deadhead pilot) พร้อมกับมีการเปิดเผยเอกสารของการบินไทย เรื่อง ขอแนวทางการจัดที่นั่งให้ Flight Deck Passive Crew ในเครื่องบิน B747/A380 ที่ operate 2-class concept

เอกสารการบินไทย

โดยเนื้อหาของเรื่องราวทั้งหมดนั้นเกิดจากการเปลี่ยนเครื่องบินที่จะใช้ในเที่ยวบิน TG971 จาก B777 มาเป็น B747 ซึ่งในเครื่องแบบ B777 นั้นไม่มีที่นั่งในชั้น First Class เมื่อมีการเปลี่ยนเครื่องมาเป็น B747 ซึ่งมีที่นั่ง First Class ทำให้มีผู้โดยสารบางส่วนในชั้นธุรกิจ(Business Class) ได้รับสิทธิเปลี่ยนที่นั่งมาอยู่ในชั้น First Class เป็นเหตุให้ที่นั่งในชั้น First Class เต็มทั้งหมด ในขณะที่คณะนักบิน(Deadhead pilot) ของการบินไทยโดยปกติจะได้รับสิทธิให้นั่งในชั้นธุรกิจเท่านั้น ยกเว้นเครื่องบินที่มี First Class ไม่มีผู้โดยสารจึงจะได้รับสิทธิให้นั่ง First Class ได้

สำหรับเที่ยวบิน TG971 นี้ ปัญหาจึงเกิดจากการไม่ประสานงานที่ดีของระบบการจองที่นั่งของผู้โดยสารชั้นธุรกิจที่ได้รับสิทธิ์มานั่ง First Class กับ กลุ่มนักบิน(Deadhead pilot) ที่ต้องการใช้สิทธิ์นั่ง First Class ทำให้เมื่อคณะนักบิน(Deadhead pilot) ไม่มีที่นั่งในชั้น First Class เนื่องจากมีผู้โดยสารเต็มแล้ว จนเกิดปัญหาเนื่องจากคณะนักบิน(Deadhead pilot) ไม่ยอมย้ายไปนั่งในชั้นธุรกิจ เช่นเดียวกับไม่มีผู้โดยสารชั้นธุรกิจที่ได้สิทธินั่ง First Class ไม่ยอมย้ายที่นั่งเช่นกัน ทำให้เที่ยวบินดังกล่าวล่าช้าออกไปถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง จนผู้โดยสาร 2 ท่านซึ่งเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ยินยอมย้ายไปนั่งในชั้นธุรกิจเพื่อจบปัญหา นำไปสู่การร้องเรียนและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมถึงความเหมาะสมของการกระทำของคณะนักบิน(Deadhead pilot)

 

ที่มา : Thai Airways

ต่อมาเมื่อมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มนักบินการบินไทยรุนแรงขึ้น นายสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย ได้โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ส่วนตัวถึงเรื่องดังกล่าวว่า

“มีประเด็นหนึ่งที่เพื่อนหลายคนสงสัยว่าทำไม กัปตันการบินไทยถึงต้องเดินทางในชั้น First class ผมอยากจะให้ข้อมูลเพื่อนๆว่า สิทธิอันนี้ มันเป็นสิทธิที่เค้าได้รับตามเงื่อนไขที่บริษัทตกลงว่าจ้างมาตั้งแต่ก่อนที่ผมจะเข้าทำงานเมื่อ 21 ปีที่แล้วซะอีก

โดยภายหลัง ทางฝ่ายบริหารฯ ได้ตัดสิทธิ์ ในกรณีกัปตันเดินทางไปทำงานให้บริษัท โดยจะสำรองที่นั่งในชั้นธุรกิจแทน ยกเว้นในกรณีที่นั่งในชั้น First class ว่าง จึงจะได้ไปนั่ง เป็นเรื่องที่แม้ว่าจะรู้สึกเสียสิทธิที่เคยมี แต่ทุกคนก็ยอมเสียสละเพื่อให้บริษัทฯมีรายได้จากการขายตั๋วในชั้น First class มาถึงวันนี้ เกิดกรณีที่แม้ไม่มีผู้โดยสาร First class กัปตันก็ไม่ได้ถูกสำรองที่นั่งให้ตามสิทธิที่มี ซ้ำร้ายต้องกลายเป็นจำเลยสังคม”

ทั้งนี้นายสนองได้ทิ้งท้ายว่า “ถ้าเราถอยมากๆ วันหนึ่งเราจะไม่มีที่ให้ยืน”

Facebook ส่วนตัวของนายสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย

หลังจากการโพสต์ข้อความผ่าน Facebook ส่วนตัวของ นายกสมาคมนักบินไทย ก็ยิ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงทัศนคติในการทำงาน และมุมมองที่มีต่อการทำงานบริการในสายการบินแห่งนี้จากสังคมมากยิ่งขึ้นไปอีก

ภาพจาก Facebook ส่วนตัวของนายสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสรุปเรื่องราวดราม่าของการบิน  ไทยรอบล่าสุด แต่หากมองในมุมมองธุรกิจแล้ว แสดงให้เห็นว่าองค์กรใหญ่แบบ “การบินไทย” เต็มไปด้วยปัญหา เดิมทีเมื่อมองการบินไทยเราจะนึกถึงปัญหาด้านผลประกอบการ ซึ่งในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา การบินไทยมีผลกำไรเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น และหากพิจารณาจากผลประกอบการรอบ 10 ปี การบินไทยขาดทุนไปแล้วกว่า 46,000 ล้านบาท

ปัญหา Crisis Management ของการบินไทย       

แต่วันนี้เราได้เห็นปัญหาใหญ่ขององค์กรนี้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ระบบ Crisis Management ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ในกรณีที่เมื่อมีการเปลี่ยนเครื่องบินพนักงานของการบินไทยไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องการจองที่นั่งระหว่างกลุ่มนักบิน และผู้โดยสารได้ จนเป็นเหตุให้เที่ยวบิน TG971 ต้องล่าช้า ผู้โดยสารกว่า 300 คนต้องรอกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง

เราได้เห็นปัญหาเรื่องทัศนคติและความเป็นมืออาชีพในการทำงานของพนักงานการบินไทย โดยเฉพาะนักบิน ซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิของตนเองมากกว่าผู้โดยสาร รวมถึงผลประโยชน์และชื่อเสียงของบริษัทฯ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งหลายคนเรียกว่าสายการบินแห่งชาติ จะมีปัญหาภายในมากมายขนาดนี้ และปัจจัยจากปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการบินไทยเป็นอย่างมาก เพราะในปัจจุบันธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันดุเดือดที่สุดธุรกิจหนึ่ง แต่การบินไทยแสดงให้เห็นแล้วว่ามีปัญหาทั้งเรื่องการบริการ คุณภาพ และทัศนคติของบุคลากร เมื่อเป็นเช่นนี้การบินไทยจะแก้ปัญหาด้านการเงินของตัวเองได้อย่างไร?

ที่มา : Thai Airways

ปัญหาการสื่อสารกับสาธารณะ

สิ่งหนึ่งที่พบว่าเป็นปัญหามากในกรณีนี้คือ การสื่อสารระหว่างองค์กรกับสาธารณะที่ไม่อาจควบคุมการให้ข่าวของนักบินในองค์กรที่แยกออกมาสื่อสารกับสาธารณชนเอง โดยคาดว่าไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองโดยผู้บริหารหรือสายบังคับบัญชาก่อน ทำให้กลายเป็นดราม่าที่ลุกลามเหมือนเติมน้ำมันลงกองไฟ

ถ้าเกิดปัญหาใหญ่กว่านี้แล้วไม่อาจควบคุมการให้ข่าว การสื่อสารกับนักข่าวและสาธารณะได้ ความผิดพลาดของสิ่งที่สื่อออกไปอาจทำลายทั้งภาพลักษณ์ขององค์กรตลอดจนลูกค้าที่จงรักภักดีต่อแบรนด์องค์กรก็อาจหันไปใช้บริการกับคู่แข่งแทน ส่งผลเสียต่อทั้งรายได้และผลกำไรขององค์กรในระยะยาวในขณะที่องค์กรยังขาดทุนสะสมต่อเนื่องคงต้องมีการพิจารณาทบทวนขั้นตอนการให้ข่าวของพนักงานว่าระดับใดให้ข่าวได้เพียงใด ใครจะเป็นผู้ให้ข่าวเพื่อหน่วยงานเดียว หรือ การแก้ข่าวที่สุภาพโดยเฉพาะการรักษาสิทธิของผู้โดยสารเป็นอันดับแรก

ที่มา : Thai Airways

แม้จะเป็นสายการบินที่รัฐบาลถือหุ้นใหญ่ แต่ต้องไม่ลืมคำพูดของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้กล่าวเตือนการบินไทย เมื่อครั้งไปร่วมงานเสวนาที่มีผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจไทยว่า “อย่าคิดว่าเป็นสายการบินของรัฐ แล้วจะเจ๊งไม่ได้”

Source: ประชาชาติ Brandinsie