27-11-2019

WeWork สตาร์ตอัพดาวรุ่งก่อนจะร่วงเมื่อเตรียมไอพีโอ

บทความโดย

โดย  Rapeepat Ingkasit

  • โมเดลธุรกิจของ WeWork คือทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาวก่อนจะเปลี่ยนแปลงออฟฟิศให้หรูหราทันสมัยเอาใจคนรุ่นใหม่ พร้อมกับใส่ฟังก์ชันที่จำเป็นต้องมีไม่ว่าอินเทอร์เน็ต ห้องจดหมาย แผนกต้อนรับ และบริการทำความสะอาด ผนวกด้วยความหวือหวาที่หาที่ไหนไม่ได้แต่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่คือกาแฟไนโตรและคราฟท์เบียร์ที่ดื่มฟรีตลอดวัน หลังจากได้รับเงินลงทุนจากกองทุนวิชั่นมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ WeWork ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด
  • WeWork เตรียมเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อสาธารณะหรือไอพีโอ (Initial Public Offering: IPO) ณ มูลค่า 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเป็นบริษัทที่มูลค่าสูงที่สุดประจำปี 2019 ซึ่งทุกคนต่างจับตามอง แต่ข้อมูลที่นำเสนอในหนังสือชี้ชวนนักลงทุนหรือเอกสาร S-1 ที่นอกจากจะเต็มไปด้วยวาทะกลวงเปล่าแล้ว ยังมีปัญหาธรรมาภิบาลซึ่งให้อำนาจผู้บริหาร อดัม นิวมันน์อย่างล้นเหลือ รวมถึงสัญญาระหว่างเขากับบริษัทที่นับว่าเอาเปรียบนักลงทุนอย่างยิ่ง
  • กรณีของ WeWork สอนให้เรารู้ว่าการลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพมีความเสี่ยงอย่างยิ่ง แม้กระทั่งผู้บริหารกองทุนมือเก๋ายังสามารถตกหลุมพรางได้เพราะเชื่อว่าไอเดียเหล่านั้นจะสามารถเปลี่ยนโลกโดยเลือกที่จะมองข้ามข้อเท็จจริงซึ่งปรากฎชัดในงบการเงิน รวมถึงละเลยกลไกตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างผู้บริหารและกรรมการบริษัทซึ่งมักไม่เข้มข้นนักในแวดวงสตาร์ตอัพหากเทียบกับบริษัทมหาชน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผู้เขียนรู้จัก WeWork ในฐานะสตาร์ตอัพโคเวิร์คกิ้งสเปซที่น่าจับตามองซึ่งนอกจะนำเสนอออฟฟิศหรูหราเพื่อตอบสนองความต้องการที่มากกว่าการทำงานนั่นคือไลฟ์สไตล์ ราคาต่อหัวของ WeWork ยังถูกกว่าการเช่าออฟฟิศที่ต้องบริหารจัดการเอง ไม่น่าแปลกใจที่ออฟฟิศซึ่งจัดการโดย WeWork นั่นจะน่าดึงดูดใจไม่ใช่เฉพาะพนักงานและยังรวมถึงผู้บริหารที่ต้องการลดต้นทุน

ภาพฝันของ WeWork สตาร์ตอัพอสังหาริมทรัพย์เริ่มเป็นรูปเป็นร่างโดยอดัม นิวมันน์ (Adam Neumann) นักธุรกิจหนุ่มชาวอิสราเอลที่มาแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในสหรัฐอเมริกา เขานำประสบการณ์ของตนเองในคิบบัตซ์ (Kibbutz) หรือชุมชนเกษตรรวมหมู่ในอิสราเอลมาใช้เป็นแนวคิดในการตั้งธุรกิจ WeWork เพื่อสร้างโคเวิร์คกิ้งสเปซแห่งศตวรรษที่ 21

สำหรับเขา WeWork ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ทำงานแต่คือชุมชนและโครงข่ายไม่ต่างจากโซเชียลมีเดียแบบออฟไลน์

สู่สตาร์ตอัพดาวรุ่ง

สิ่งที่ทำให้ WeWork ก้าวกระโดดจากสตาร์ตอัพสู่ยักษ์ใหญ่คือการพบปะระหว่างอดัม นิวมันน์ และมาซาโยชิ ซัน (Masayoshi Son) ผู้บริหารกองทุนวิชั่น (Vision Fund) กองทุนมูลค่ามหาศาลโดยบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น SoftBank ที่ให้เงินทุนสตาร์ตอัพทั่วโลก โดยมีผลงานชิ้นเอกคืออาลีบาบา (Alibaba) ที่เปลี่ยนเงินลงทุน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในระยะเวลา 14 ปี

พวกเขาคุยกัน 12 นาที มาซาโยชิก็ตัดสินใจลงทุน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐกับ WeWork นับแต่นั้น บริษัทก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยใช้แนวคิดธุรกิจไม่ต่างจากแพลตฟอร์มอย่าง Uber แพลตฟอร์มขนส่งที่ไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเอง AirBnB แพลตฟอร์มห้องพักที่ไม่มีห้องพักเป็นของตัวเอง ส่วน WeWork คือแพลตฟอร์มออฟฟิศที่ไม่มีออฟฟิศเป็นของตัวเอง

โมเดลธุรกิจของ WeWork คือทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาวก่อนจะเปลี่ยนแปลงออฟฟิศให้หรูหราทันสมัยเอาใจคนรุ่นใหม่ พร้อมกับใส่ฟังก์ชันที่จำเป็นต้องมีไม่ว่าอินเทอร์เน็ต ห้องจดหมาย แผนกต้อนรับ และบริการทำความสะอาด ผนวกด้วยความหวือหวาที่หาที่ไหนไม่ได้แต่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่คือกาแฟไนโตรและคราฟท์เบียร์ที่ดื่มฟรีตลอดวัน

แต่ความฝันของอดัมไม่ได้หยุดแค่พื้นที่ออฟฟิศ เพราะเขายังผุดไอเดียใหม่ๆ โดยใช้แบรนด์ We ไม่ว่าจะเป็น WeLive คอนโดที่อยู่อาศัยแบบชุมชนเพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตาย WeGrow ธุรกิจโรงเรียนที่ภรรยาของเขาเป็นหัวเรือหลัก และอีกสารพัดทั้งธนาคาร WeBank หรือกระทั่งการเปิดสำนักงานบนดาวอังคารชื่อว่า WeMars

แม้ไอเดียจะฟังดูหลุดโลก แต่ผู้ให้ทุนอย่างมาซาโยชิ ซัน ก็เป็นที่เลื่องลือว่านับถือลูกบ้าของผู้บริหารรุ่นใหม่ อย่าลืมว่าเขาทุ่มเงินจำนวนมหาศาลให้กับแจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบาในวันที่เขาไม่มีกระทั่งแผนธุรกิจและต้องการขายของออนไลน์ในวันที่ประเทศจีนยังเต็มไปด้วยถนนลูกรัง

ใน พ.ศ. 2560 WeWork เติบโตตามเส้นทางที่วางไว้โดยรายได้ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานราว 30 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขดังกล่าวยังดึงดูดเงินลงทุนจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่อย่าง Fidelity Goldman Sachs และ JPMorgan ภายในเวลาไม่ถึงสิบปี WeWork ก็กลายเป็นบริษัทซึ่งถือสิทธิในพื้นที่มากที่สุดในนิวยอร์ก วอชิงตัน และลอนดอน

นักลงทุนต่างเชื่อว่า WeWork สร้างคุณค่าเพิ่มในระดับที่ไม่สามารถเทียบกับธุรกิจให้เช่าพื้นที่ออฟฟิศแบบเดิมได้ เพราะนี่คือบริษัทในอุตสาหกรรมบริการผสานกับเทคโนโลยีที่เสนอประสบการณ์การทำงานในออฟฟิศซึ่งไม่มีใครเหมือน

ฝันสลายเมื่อเตรียมไอพีโอ

WeWork เตรียมแผนเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกาในปีนี้ โดยมีมูลค่าการเสนอขายครั้งแรกต่อสาธารณะหรือไอพีโอ (Initial Public Offering: IPO) อยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเป็นบริษัทที่มูลค่าสูงที่สุดประจำปี 2019 ซึ่งทุกคนต่างจับตามอง

ฟองสบู่ของ WeWork แตกโพล๊ะจากข้อมูลที่นำเสนอในหนังสือชี้ชวนนักลงทุนหรือเอกสาร S-1 ที่นอกจากจะเต็มไปด้วยวาทะกลวงเปล่าอย่างการสร้างชุมชน ไร้แผนธุรกิจที่ชัดเจน และพันธกิจองค์กรที่ว่า “ยกระดับสัมปชัญญะของโลก (elevate the world’s consciousness)” ในข้อมูลดังกล่าวยังเต็มไปด้วยปัญหาธรรมาภิบาลซึ่งให้อำนาจผู้บริหาร อดัม นิวมันน์อย่างล้นเหลือรวมถึงสัญญาระหว่างเขากับบริษัทที่นับว่าเอาเปรียบนักลงทุนอย่างยิ่ง

ประเด็นฉาวอย่างเช่นการที่อดัมจดทะเบียนการค้าแบรนด์ใหม่อย่าง “We” แล้วขายกลับให้บริษัทในราคา 5.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และข้อเท็จจริงที่ว่าอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งที่ WeWork ทำสัญญาเช่าระยะยาวนั้นถือครองโดยบริษัทซึ่งอดัมเป็นผู้ก่อตั้ง การกระทำดังกล่าวไม่ต่างจากยักย้ายถ่านโอนเงินจากบริษัทเข้ากระเป๋าของตัวอดัมเอง

เพียงชั่วข้ามคืน WeWork เปลี่ยนสถานะจากสตาร์ตอัพดาวรุ่งสู่ดาวร่วง เมื่อนักวิเคราะห์เขี้ยวลากดินต่างงัดแงะงบการเงินของบริษัทแล้วพบว่าไอพีโอครั้งนี้ไม่ต่างจากการขายฝัน ซึ่งหากเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมพื้นที่ออฟฟิศให้เช่า อย่าง IWG ซึ่งมีมูลค่าราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รายได้ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและมีกำไร ก็ถือว่า WeWork ถูกประเมินราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็นไปมาก

ตารางเปรียบเทียบรายได้ มูลค่าบริษัท และกำไรจากการดำเนินงานของผู้นำในอุตสาหกรรมให้เช่าพื้นที่ออฟฟิศ ภาพจาก WeWork: The rise and fall of co-founder Adam Neumann

หากพิจารณาเพียงงบการเงิน WeWork อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่ารายได้จะเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่ปัญหาคือค่าใช้จ่ายของบริษัทเติบโตรวดเร็วกว่า โดยในปี 2561 WeWork มีรายได้ 1.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบสองเท่าของรายได้

แผนไอพีโอของ WeWork ถูกชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนดเมื่อราวปลายเดือนกันยายน ตามมาด้วยความพยายามปรับโครงสร้างบริษัทของ SoftBank เจ้าของกองทุนโดยมีอุปสรรคหลักคือการขอร้องแกมบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารซึ่งจบลงด้วยการที่ SoftBank ยอมจ่ายเงินค่าที่ปรึกษามูลค่า 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับอดัมเป็นเวลา 4 ปี การปรับโครงสร้างของ WeWork ทำให้พนักงานกว่า 2,400 คนทั่วโลกต้องออกจากงาน และมีแผนว่าจะเลิกจ้างอีกกว่า 2,000 ตำแหน่ง

บทเรียนของนักลงทุน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักลงทุนถูกต้มโดยเหล่าผู้บริหารบริษัทสตาร์ตอัพ หากใครยังพอจำได้ เมื่อราว 5 ปีก่อนนักลงทุนทั่วโลกแม้กระทั่งนิตยสารชื่อดังยังโดนหลอกลวงจากอลิซาเบธ โฮล์มส์ (Elizabeth Holmes) ผู้บริหารบริษัท Theranos ซึ่งเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง WeWork เป็นอีกกรณีที่นักลงทุนต้องสูญเงินมูลค่ามหาศาลเพราะเชื่อใจผู้บริหารที่ดูเผินๆ ชาญฉลาด มีความมุ่งมั่น และเต็มไปด้วยสารพัดไอเดียใหม่ๆ แต่ความเป็นจริงแล้วเขาหรือเธออาจทำเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

กรณีของ WeWork สอนให้เรารู้ว่าการลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพมีความเสี่ยงอย่างยิ่ง แม้กระทั่งผู้บริหารมือเก๋ายังสามารถตกหลุมพรางได้เพราะเชื่อว่าไอเดียเหล่านั้นจะสามารถเปลี่ยนโลกโดยเลือกที่จะมองข้ามข้อเท็จจริงซึ่งปรากฎชัดในงบการเงิน รวมถึงละเลยกลไกตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างผู้บริหารและกรรมการบริษัท ซึ่งมักไม่เข้มข้นนักในแวดวงสตาร์ตอัพหากเทียบกับบริษัทมหาชน

สิ่งที่น่าเศร้าสำหรับกรณีนี้คือผู้ที่สูญเสียที่สุดกลับเป็นพนักงานตัวเล็กๆ หลายพันชีวิตซึ่งทำงานโดยสุจริตแต่กลับต้องมารับผลกระทบจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้บริหารและความละเลยของนักลงทุน ผู้เขียนขอหยิบยกบางตอนของจดหมายเปิดผนึกจากพนักงานถึงทีมผู้บริหาร WeWork ชุดใหม่ว่า

“เพื่อนพนักงานกว่าพันคนกำลังจะถูกเลิกจ้างในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เราต้องการให้เวลาที่เราทำงานให้กับบริษัทมีความหมายบางอย่าง เราไม่อยากให้มันถูกนิยามโดยการฉ้อฉล คอร์รัปชัน หรือความละโมบของผู้นำบริษัท เราต้องการทิ้งมรดกเพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและภาพแทนที่แท้จริงของพนักงาน WeWork เราต้องการให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างได้รับค่าตอบแทนที่เป็นเต็ม พร้อมกับเงินชดเชย การรักษาพยาบาลโดยบริษัท และค่าตอบแทนจากมูลค่าหุ้นที่เสียไป”

นี่คือเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมจากพนักงานซึ่งอาจสูญเสียงานโดยได้รับการเยียวยาเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ผู้บริหารซึ่งเป็นตัวการของปัญหาเดินจากไปในฐานะมหาเศรษฐี